ฮั๊ด...ชิ้ววววว....เสียงจามของผมเองครับ อยู่ภายใต้บรรยากาศอุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียส (โคตะระหนาวครับ) เมื่อเวลาประมาณ 6.15 น. (ใช้การจามเป็นเครื่องมือการปลุกไปในตัว) เหตุเกิดเนื่องจากการที่ไม่ได้ดูว่าทางโรงแรมตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ก่อนหน้านี้เท่าใด เมื่อคืนเข้ามาในห้องก็ไม่ได้สังเกต ทำงานกับธุระส่วนตัวแล้วก็นอน บวกการสอบปากคำพี่บอยก็ได้ให้การว่าคอมเพรสเซอร์ไม่มีการตัดแต่อย่างใด (จากการสังเกตทั้งคืน) เพราะฉะนั้นมันจะหนาวมากๆๆๆ และอุณหภูมิจะคงที่ 18 องศาเซลเซียสตลอดคืน (โชคยังดีแค่จามแต่ไม่เป็นหวัด) ยังไงบทเรียนนี้จะจำไว้ครับ
หลังจากการถกประเด็นเรื่องความเย็นจบลง กระผมก็รีบจัดการธุระส่วนตัว จนกระทั่งเวลา 7.15 น. เราทั้งคู่ก็ลงมารับประทานอาหารที่ห้องซึ่งบรรยากาศค่อนข้างเป็นธรรมชาติมาก มีน้ำตกจำลองด้วยครับ วันนี้ เราเลยทานอาหารเช้าเพลินเป็นพิเศษ โดยไม่คิดว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าอุปสรรคกำลังจะตามมา เมื่อเราพบว่าห้องประชุมที่จองกับโรงแรมไว้ สามารถจุผู้เข้าฟังบรรยายได้ราว 60 คน แต่ในใบรายชื่อที่มีผู้มาลงทะเบียนจริงมีถึง 96 คน (เริ่มเครียดแล้วครับ) ตอนนี้เราเริ่มระดมสมองกันเอง (โดยไม่ต้องรอถึงช่วงเวิร์คช็อปกันแล้ว) ว่าจะจัดโต๊ะเก้าอี้อย่างไร แต่ในที่สุดเราก็จัดออกมาลงตัวจนได้ โดยส่วนตัวแอบไปขอพรจากพระพิฆเนศด้านหน้าโรงแรมว่าขอให้งานสัมมนาวันนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีเถิด (เริ่มเล่นไสยศาสตร์พ่วงด้วย) บรรยากาศวันนี้ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่มาจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร และคนทำงานจากภาคธุรกิจด้วย
ในช่วงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง มีการเลือกอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การเป็นผู้มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพของตนเองโดยชอบธรรม ด้วยการทำงานที่สุจริตและรับผิดชอบในหน้าที่การงาน (CSR ชัด ๆ) ซึ่งหากพนักงานทำงานด้วยความรับผิดชอบสูง สังคมก็จะได้รับประโยชน์ เกิดผลกระทบเชิงลบน้อย หัวข้อต่อมาเป็นการเล่าประสบการณ์ในเรื่องของการเป็นผู้มีความสัตย์ ที่ตนเองเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด ไม่ลักขโมย ไม่ทุจริตแม้กระทั่งการลอกข้อสอบ รักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วยการทำงานเต็มเวลา ไม่เอาเปรียบที่ทำงาน เป็นต้น
ส่วนหัวข้อกิจกรรม CSR เชิงระบบที่น่าสนใจ มีผู้เลือกหัวข้อการสื่อสารเรื่อง CSR เพราะในบางครั้ง การปฏิบัติ CSR ขององค์กรไม่เป็นที่รับรู้ต่อประชาชน ขณะที่องค์กรก็ไม่รู้ว่าชุมชนต้องการความช่วยเหลืออะไร การสื่อสารที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถเลือกทำ CSR ที่เหมาะสมต่อความต้องการของชุมชนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่องค์กรทำ CSR โดยที่ไม่รู้ความต้องการของชุมชนนั้นๆ อย่างดีพอ
ช่วงกิจกรรมการคิดค้น CSR เชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดสมุทรสาคร มีกิจกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ “โครงการเกลือดีศรีสาคร” ที่จะเน้นการพัฒนานาเกลือควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการนาเกลือให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีการคัดสรรนักศึกษาให้เป็นผู้ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวนาเกลือ ผสมผสานกับการเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสำหรับการประกอบการ อาทิ การบัญชีอย่างง่าย ให้แก่ผู้ประกอบการนาเกลือในจังหวัด
กิจกรรมที่น่าสนใจถัดมาคือ “โครงการปลูกป่าชายเลน: Help The Tree World” ที่เน้นการดูแลรักษาป่าชายเลนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการปลูกเพิ่ม ด้วยการเชิญชวนสถานศึกษาต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาปีละ 4 ครั้ง ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวสมุทรสาครและแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย
อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “โครงการมัคคุเทศน์สาครน้อย” เนื่องจากสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีประชาชนสัญจรผ่านไปมาค่อนข้างมาก แต่ยังให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวในตัวจังหวัดน้อยมาก โครงการนี้จึงต้องการสร้างมัคคุเทศน์น้อยจากเยาวชนในจังหวัด เพื่อให้ความรู้เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดได้อย่างถูกต้อง โดยจะสนับสนุนช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุชุมชน และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย
ในวันนี้ กระผมได้มีโอกาสสนทนากับคณะอาจารย์จาก 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร โดยท่านแรก คือ อาจารย์ ดร.เสรี วรพง ภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านกล่าวว่า “โดยส่วนตัวเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้ว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างไร รู้สึกดีที่เห็นภาคธุรกิจลุกขึ้นมาทำ CSR กันมากขึ้น ไม่คิดเพียงแต่จะมุ่งหวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว การมาร่วมอบรมสัมมนา CSR Campus ในวันนี้ ได้ความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ดีและครบถ้วนมากขึ้นด้วย สำหรับเนื้อหาในส่วนบรรษัทพลเมืองจะมีการนำไปสอดแทรกในรายวิชาอย่างแน่นอน อีกทั้งยังต้องมีการนำไปบูรณการในมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย”
สำหรับอาจารย์พิจิตรา ดิสวโรธรรม จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวกับกระผมว่า “ส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะมีการทำ CSR อยู่แล้ว แต่เดิมจะมองการทำ CSR ว่า สังคมจะได้รับอะไรจากกิจกรรมของมหาวิทยาลัยบ้าง พอหลังจากฟังการบรรยายทำให้เห็นมุมมองเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงบทบาทหน้าที่ภายในองค์กรอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องหน้าที่พลเมือง ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น การให้นักศึกษาทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยมีการคิดเป็นชั่วโมงกิจกรรมให้ หรือการนำความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการในส่วนของการตลาดไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนหมู่บ้านสัตว์สี่เหลี่ยม ทำให้ชุมชนดังกล่าวมีความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจมากขึ้น
สุดท้ายเป็นคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์นันกานต์ สุธรรมชัย อาจารย์เรณู มานะกุล และอาจารย์อังคณา ทองยุพา ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “ตอนนี้ธุรกิจต่างๆ ยังขาดการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่มาก แม้ว่าจะมีบางธุรกิจที่ให้ความสำคัญแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบทุกด้าน ซึ่งการมาสัมมนาวันนี้ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ CSR เพิ่มเติมครบถ้วน ส่วนความเป็นไปได้ในการนำเรื่องบรรษัทพลเมืองไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษานั้น สามารถดำเนินการได้แน่นอน เพราะส่วนตัวสอนวิชาด้านการขายที่ต้องมีการนำ CSR มาประยุกต์ในเชิงของการบริการหลังการขายอยู่แล้ว ถือเป็นการให้นักศึกษาปฏิบัติไปในตัว นักศึกษาเองจะได้สามารถเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ CSR อย่างชัดเจน
ในที่สุดงาน CSR Campus ณ จังหวัดสมุทรสาครในวันนี้ก็สำเร็จลงด้วยดี บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน (วันนี้สุดยอดจริง ๆ) และเมื่อเก็บของเสร็จเรียบร้อย เราก็ออกเดินทางไปไหว้พระที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร (ทัวร์ไหว้พระ 9 วัด หรือจัดสัมมนากันแน่) วัดนี้มีชื่อเกี่ยวกับพิธีลอดโบสถ์ ยังไงเสีย เรามาแล้วจะไม่ลอดโบสถ์สักครั้งก็กระไรอยู่ ต้องอธิบายก่อนว่าโบสถ์ของที่นี่จะมีชั้นใต้ดินด้วยครับ การลอดโบสถ์ก็คือการเดินเวียนจากข้างบนลอดไปยังชั้นใต้ดินแล้วกลับขึ้นมาใหม่ เดินเวียนไปเรื่อยๆ ในที่นี้ผมเดินเวียน 3 รอบครับ ในระหว่างที่เดินก็จะมีใบเอกสารให้อ่านไปเรื่อยๆ ครับ (เนื้อหาใจความในเอกสารก็จะเป็นการล้างเอาอาถรรพ์หรือความไม่ดีออกจากตัวนั่นเอง)
ขณะที่คนอื่นยังเดินเวียนอยู่นั้น (สงสัยยังล้างอาถรรพ์ออกไม่หมด) ผมได้ใช้เวลานั่งสนทนากับหลวงพ่อ โดยท่านเล่าว่าจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีพื้นที่ติดทะเลและระดับพื้นดินค่อนข้างต่ำ สมัยก่อนเคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บริเวณห้องใต้ดินของโบสถ์เต็มไปด้วยน้ำ สร้างความเสียหายมาก โบสถ์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ได้ถูกปฎิสังขรณ์จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอได้ฟังเรื่องนี้ ก็นึกถึงคำพูดของเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน เคยบอกว่า หากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดแรกที่จะถูกท่วมด้วยน้ำทะเลก็คือ จังหวัดสมุทรสาคร ระดับน้ำทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งขึ้นมาทุกปี เวลายิ่งผ่านไป เหตุการณ์ก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนตัวเพื่อนกระผมคิดว่าที่บ้านน่าจะถอย Speed Boat มาซักลำจะได้ทันใช้ในรุ่นลูกรุ่นหลาน (เพื่อนเราก็ช่างคิดเนอะ ป่านนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้) สนทนากับหลวงพ่อได้สักพัก ทีมงานที่เหลือก็ลอดโบสถ์เสร็จ คณะของเราเลยร่วมกันถวายสังฆทานต่อก่อนจะนมัสการลาหลวงพ่อกลับ
ขณะที่นั่งรถตู้อยู่นั้น กระผมก็นั่งครุ่นคิดว่า สมุทรสาครน่าจะมีการรณรงค์ปลูกป่าชายเลนอย่างจริงจัง เพราะหากเริ่มปลูกป่าชายเลน ณ ตอนนี้อย่างเร่งด่วน และมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าสิ่งแรกเลยที่จะได้คือ เพื่อนผมคงซื้อเรือ Speed Boat มาจอดหน้าบ้านเพื่อให้ตำลึงหรือกระถินขึ้นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ฮา (ล้อเล่นนะครับ) สิ่งแรกเลยคือพื้นที่ชายฝั่งจะมีการกัดเซาะน้อยลง แถมยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งอีกต่างหาก รวมทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำได้ดีอีกด้วย (ขอให้โครงการถูกดำเนินการอย่างรีบเร่งทีเถอะ สาธุ)
คณะของเรามาแวะทานข้าวที่มหาชัย แล้วก็เดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ วันนี้เป็นวันศุกร์แถมยังเป็นวันผลพลอยได้ (เงินเดือน) ออกอีก จึงเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีที่ทำให้รถติดเป็นอย่างมากกกกกก เฮ้อ กว่าจะถึง Office และกว่าจะกลับถึงห้องก็เป็นเวลา 21.00 น. ในที่สุดทริป CSR Campus เที่ยวนี้ ก็จบลงอย่างสวยงามครับ ท่านผู้ชม Blog ทั้งหลาย โปรดติดตามทริปหน้าด้วยนะครับ เพราะจะเป็นสัปดาห์ที่เราจะมีการจัดประชุม CSR Campus ระดับภาค สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ณ จังหวัดชลบุรี รวมอยู่ด้วย
ส่วนวันนี้ขอลาก่อน แต่ก่อนจากลา ขอบอกว่า ราตรีสวัสดิ์ พี่น้องชาวไทย