กระผมขอเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่าการเขียนเกี่ยวกับจังหวัดชลบุรีนี้จะมีคนที่เขียนอยู่สองคนครับคือท่านพี่หนึ่งกับกระผม(นายแม็กซ์)นะครับ หวังว่าทุกท่านจะไม่งง อันไหนที่ท่านพี่หนึ่งหรือผมเป็นคนเขียนผมจะมีวงเล็บเอาไว้ด้านหน้านะครับ ขออภัยในการอ่านที่ไม่สะดวกด้วยครับ
(นายแม็กซ์) การเดินทางมาสู่งานระดับภาคนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างที่จะนานทีเดียว ก็ประมาณ 6-7ชั่วโมงเห็นจะได้ครับ เพราะทีมของเราต้องเดินทางจากร้อยเอ็ดไปจนถึงที่ชลบุรี และระหว่างทางฝนก็ตกลงมาเป็นระยะเวลาค่อนข้างที่จะนานทีเดียวครับ ฝนตกตั้งแต่เราออกจากร้อยเอ็ดไปจนถึงโคราชเห็นจะได้ แต่เราก็ไม่ลืมที่จะหาอะไรลองท้องไปตามทางครับ อย่างไรก็ตามเราต้องขอขอบพระคุณทีมอาจารย์ฌานสิทธิ์เป็นอย่างมากที่ได้แบ่งเบาภาระของเราได้เยอะเพราะทีมของท่านได้ไปถึงก่อนและเตรียมอุปกรณ์การจัดงานในวันรุ่งขึ้นไว้แล้วในบางส่วน การเดินทางไปในคราวนี้ผมนอนไม่หลับเลยเพราะคิดอยู่ว่างาน CSR ในระดับภาคนั้นจะเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ ฮ่า ๆ
เรามาถึงจนได้ครับที่ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียม เนื้อที่โรงแรมใหญ่มากครับโรงแรมก็น่าจะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะที่นี่ก็สร้างขึ้นมาค่อนข้างจะนานพอสมควรแล้วเหมือนกัน เราเดินทางมาถึงในเวลา 2.00น. เห็นจะได้ครับ ทราบมาว่าอาจารย์พิพัฒน์ของเรานั้นเป็นห่วงกับการเดินทางอย่างมากและได้นั่งรอทีมของเราจนประมาณตีหนึ่งเห็นจะได้ ต้องขอขอบพระคุณจริงๆครับ หลังจากที่เราได้ทำการ check in อย่างรวดเร็วก็ได้แยกย้ายกันไปที่ห้องพักทันที สงสัยว่าแอร์ของที่นี่จะดีมากๆครับ เพราะตามระเบียงทางเดินนั้นอากาศเย็นมากๆครับ เปิดเข้าไปเห็นเตียงในห้องพักปุ๊บ ผมกับอาจารย์วุฒิพงศ์ไม่รอช้าขึ้นเตียงห่มผ้านอนอย่างรวดเร็ว (อาบน้ำป่าวครับเนี่ย) เพื่อสะสมพลังงานให้ได้มากที่สุดในการอบรมของวันรุ่งขึ้น เนื่องจากทราบมาว่าคนที่จะมาร่วมงานนั้นมีประมาณ 300คนเห็นจะได้ เหอๆ
ในวันรุ่งขึ้นทีมงานจากทั้งสองทีมได้มารวมกันที่ Lobby และได้เดินไปที่ห้องสัมมนาอย่างสง่าผ่าเผย เหมือนว่าคนเยอะแล้วทำให้มั่นใจทำนองนั้น ฮ่า ๆ การลงทะเบียนก็ราบรื่นเป็นอย่างดีจากทีมงานสาวๆของทางสถาบันไทยพัฒน์ของเรา คล่องแคล่วว่องไวทักทายผู้เข้าร่วมอบรมอย่างเป็นกันเองเพราะบางท่านนั้นเดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ ที่เราได้ไปอบรมมาบ้างแล้ว มีการแยกการลงทะเบียนระหว่างต่างจังหวัดกับคนของชลบุรี ทำให้ทุกอย่างเสร็จอย่างรวดเร็วและไม่ผิดพลาด
งานได้เริ่มขึ้นอย่างเคยครับโดยเริ่มจากการเล่นเกมแจกของรางวัลอย่างสนุกสนานเป็นกันเองแต่ที่ต่างออกไปคือวันนี้เหมือนงานคอนเสิร์ตขนาดเล็กเลยเพราะคนเยอะจริงๆครับ ท่านพี่หนึ่งก็ยิงมุขได้ตลอดจนผมพูดไม่ทันเลย ฮ่าๆและ การกล่าวเปิดงานก็เริ่มขึ้นด้วยความเป็นมืออาชีพของพี่ผึ้ง (ทีมผมเอง) อาจารย์พิพัฒน์ก็ได้ทักทายและเริ่มการบรรยายอย่างมีราศีเช่นเคยครับ
ไม่นานนักผมก็ต้องออกมาจากงาน แต่เป็นเกียรติอย่างมากครับเพราะผมต้องไปรับคุณอภิชาติ การุณกรสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชีย พรีซิชั่นครับ ซึ่งท่านจะมาบรรยายและแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้มาร่วมอบรม โดยการเดินทางใช้เวลาประมาณ 1ชั่วโมง ผมได้นั่งรอคุณอภิชาติไม่นานนักท่านก็ทักผมจากด้านหลัง “อ้าว..จากสถาบันไทยพัฒน์ปะเนี่ย รอแปบหนึ่งนะเดี๋ยวไปเอาของก่อน” ผมยิ้มเลยครับเพราะท่านไม่ถือตัวเลย และดูไม่คิดมากด้วยว่าการที่ทางเราให้เด็กอย่างผมมารับท่านอาจจะไม่พอใจ แต่ไม่เลยครับเป็นกันเองอย่างมาก ผมเชิญท่านขึ้นรถตู้ของทางเรา ท่านก็นั่งข้างผมครับ ระหว่างทางที่จะกลับไปโรงแรมนั้นผมก็ได้มีโอกาสสนทนากับท่านครับ ท่านก็ถามถึงเรื่องว่าเราออก CSR Campus ของเราได้เดินทางจังหวัดไหนมาบ้างแล้วและถามว่าทำอะไรบ้าง ผมก็ถามท่านบ้างถึงการบริหารจัดการในองค์กรของท่าน เรื่องเศรษฐกิจในตอนนี้ว่ากระทบกับองค์กรบ้างไหมขนาดไหน ท่านบอกว่าสมัยก่อนได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ในยุคนั้นธุรกิจด้านนี้แข่งขันกันค่อนข้างเยอะทำให้อยากที่จะเปลี่ยนแนวทางของธุรกิจ อยากจะหาธุรกิจที่ไทยไม่ค่อยจะมีมากนักและมีคู่แข่งให้น้อยที่สุด ท่านจึงได้เริ่มในธุรกิจคล้ายๆกับโรงกลึงเหล็กเล็กๆกับพรรคพวกอีกไม่ถึง 15คนเห็นจะได้ และได้ขยายขึ้นมาเรื่อยจนตอนนี้บริษัทของท่านนั้นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆอย่างโตโยต้าและอื่นๆอีกมากมาย และได้ก่อตั้งอยู่ที่ Amata Nakorn จังหวัดชลบุรี สินค้าที่ order เข้ามานั้นถ้าของที่สั่งมาเข้ากับรูปแบบของเครื่องจักรได้ก็จะรับข้อเสนอถ้าบางแบบไม่สามารถทำได้ก็มีปฏิเสธไปบ้าง การนำเข้าวัตถุดิบนั้นก็มาจากทางญี่ปุ่นบ้าง ยุโรปบ้าง มีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศบ้างในบางโอกาสถ้ามีการที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรใหม่ๆ จากเศรษฐกิจแบบนี้ก็มีผลกระทบกับธุรกิจบ้างจากปลายปี 51จนถึงต้นปี 52 หลังจากนั้นทุกอย่างก็ดีขึ้นตามลำดับ ผมคิดว่าเพราะการที่ท่านไม่ถือตัวและฟังความเห็นทุกๆอย่างจากลูกน้องไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆก็ตาม ทำให้ท่านผ่านวิกฤติต่างๆได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่นานนักครับเราก็ได้มาถึงที่โรงแรม แหม่...ผมกำลังสนุกกับประวัติในบางส่วนของท่านเลย น่าเสียดายจริงๆครับที่ผมมีโอกาสน้อยไปหน่อย
(พี่หนึ่ง) และวันนี้ขณะที่น้องแม๊กซ์ไปรับคุณอภิชาติ (ตัดเข้ามาบรรยากาศสด ณ ห้องประชุม) เราก็มีโอกาสเชิญผู้บริหารทั้ง 3 ท่านจาก บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(ดีแทค) มาร่วมเสวนาในหัวข้อ Creative CSR in Slowdown Economy โดยพิธีกรคือ คุณนงค์นาถ ห่านวิไล บรรณาธิการข่าว ธุรกิจ-การตลาด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งบรรยากาศในการเสวนาเต็มไปด้วยความสนุกสนานผสมสาระความรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้บริหารจากทั้ง 3 บริษัทดังนี้
ในช่วงเสวนาของผู้บริหารทั้ง 3 ท่านโดยผู้บริหารโตโยต้าได้ให้ความเห็นว่า “แม้เศรษฐกิจมีการชะลอตัว แต่ทางโตโยต้าก็ยังมีการดำเนินกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมถนนสีขาว ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และการทำกิจกรรม CSR นั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะเราต้องทำกิจกรรม CSR ที่สนองต่อความต้องการสังคมเป็นหลัก โดยทั้งนี้ต้องมีการปูพื้นฐานความรู้ CSR แก่พนักงานก่อน เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นตระหนักเห็นความสำคัญของการทำ CSR ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้การดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรตรงตามความต้องการของสังคมและมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืนด้วย”
ต่อมาเป็นความคิดเห็นทางผู้บริหาร CAT ซึ่งให้ความคิดเห็นดังนี้ “ในช่วงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน CAT ก็ยังมีการดำเนินกิจกรรม CSR ทั้งภายในและภายนอกอยู่โดยจะเน้นจากภายในก่อน เช่น การดูแลความเป็นอยู่ของพนักงาน ความปลอดภัยของพนักงาน การทำธุรกิจอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นต้น ส่วนภายนอกจะเป็นการดูแล Stakeholder ต่าง ๆ รวมถึงลูกค้าด้วยและโครงการ CSR ที่มีการดำเนินการก่อนหน้าแล้วก็ยังต้องดำเนินการต่อไป ส่วนโครงการ CSR ที่เป็นโครงการใหม่ก็ต้องมีการคัดเลือกโดยจะเน้นโครงการที่มีการสร้าง Impact ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด”
สุดท้ายเป็นความคิดเห็นทางผู้บริหารของ DTAC ซึ่งให้ความคิดเห็นดังนี้ “ทาง DTAC มีการกำหนดแผนการดำเนินงานทาง CSR ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยยึดหลักดังนี้ ข้อแรกต้องมีการทำ CSR ข้ามสายพันธุ์ เช่น กิจกรรม *1677 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยการให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของ DTAC โดยตรง เป็นต้น ข้อสองต้องมีการรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันเพื่อลดปัญหาพื้นฐาน 3 ปัญหาคือ ปัญหาด้านเงินทุน ปัญหาด้านเวลา และปัญหาด้านทรัพยากร ส่วนข้อสามต้องมีการลดความซับซ้อนของการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่วนข้อสุดท้ายต้องมีการทำ CSR ให้เกิด Miracle หรือ นวัตกรรม โดยผ่านทางภูมิปัญญาชาวบ้านและองค์ความรู้ขององค์กรด้วย“
วันนี้ในช่วงเที่ยงกระผมก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับอาจารย์กมลวรรณ รอดหริ่ง จากคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเนื้อความในการสัมภาษณ์มีดังนี้ “ปกติเรื่อง CSR ในส่วนของหลักการและทฤษฎีอาจารย์พอจะมีความรู้อยู่บ้างแล้ว พอได้ฟังการบรรยายจากช่วงเช้าครึ่งแรกก็ได้ทราบและเข้าใจทฤษฎีของ CSR เพิ่มเติมมากขึ้น พอมาถึงช่วงการเสวนาของผู้บริหารทั้ง 3 ท่านเกี่ยวกับ CSR ยิ่งทำให้ทราบและเข้าใจชัดเจนมากขึ้นเพราะได้เห็นการปฏิบัติงานเกี่ยวกับ CSR ของทั้ง 3 บริษัท ทำให้เราได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีศึกษาของ CSR อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย”
(นายแม็กซ์)หลังจากที่ทุกท่านได้อิ่มกับอาหารกลางวันของทางโรงแรมแล้ว การรวมตัวก็กลับมาอีกครั้งที่ห้องอบรมและก็ได้ทำการออกกำลังกายตาม Concept ของทางเรา และสำหรับในช่วงบ่ายวันนี้เราได้เกียรติจากแขกคนพิเศษมากท่านหนึ่งจะมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันครับ คุณอภิชาติ การุณกรสกุลครับ ได้กล่าวทักทายและพูดแลกเปลี่ยนว่า “เรียนสวัสดีทุกท่านในคาบบ่ายนะครับ ยินดีและดีใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพบกับทุกท่าน และได้นำเรื่องราวในโรงงานมาแลกเปลี่ยนกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านบ้าง เวลาที่มาบรรยายก็เป็นเวลาที่ท้าทายนะครับเพราะเป็นช่วงบ่าย อาจจะง่วงกันได้แต่จะให้มาเต้น Nobody ทุกๆ 15นาทีก็ไม่ไหว เมื่อช่วงเช้าก็ดีใจที่มีบริษัทใหญ่ๆได้มาร่วมงานด้วย คิดว่าทุกท่านคงได้ฟังมุมมองจากบริษัทใหญ่ๆไปแล้ว เรามาดูองค์กรขนาดย่อยลงมาบ้าง” คุณอภิชาติได้เปิดคลิปวีดีโอประมาณ 3 นาทีโดยเพลงประกอบคลิปวีดิโอก็ไพเราะมาก หลังจากจบวีดีโอพร้อมเสียงตบมือ ท่านก็บรรยายต่อว่า “สำหรับท่านที่งีบต้องลืมตาแล้วครับ (ผมคิดว่าท่านนี่อารมณ์ดีจริงๆ) ดูกันแล้วทุกท่านก็น่าจะพอนึกภาพออกนะครับว่าเราอยู่กันแบบไหน หมู่คณะแบบไหน ก็จะเป็นประเด็นในวันนี้เลยครับ สำหรับเราที่โตจากองค์กรเล็กๆก็ไม่อาจจะทำ CSR ใหญ่ๆได้ เราจึงเริ่มทำในองค์กรเราก่อน แน่นอนองค์กรธุรกิจตั้งมาก็ต้องการกำไร ทุกคนที่มาทำงานก็เพื่อหวังเอาผลตอบแทน เราได้ตั้งคำถามว่าโรงงานเป็นแค่นี้เหรอ มันน่าจะเป็นมากกว่านี้ได้นะ เราได้คิดว่าคนเราเกิดมาหาเงินสุจริต ทำงานสุจริต หาเลี้ยงชีพโดยสุจริต แค่นี้เหรอ พอเราเริ่มท้าทายผู้คนด้วยคำถามแบบนี้ ก็เป็นการเริ่มในการทำสิ่งใหม่ๆ เหมือนสมัยเด็กเราไปโรงเรียน เรียนหนังสืออย่างเดียวเหรอ เราไปทำอย่างอื่นอีกเยอะแยะที่มากกว่าการเรียน ในทำนองเดียวกันโรงงานเนี่ย ผมคิดว่าพนักงานเวลา 2ใน3 ของชีวิตใช้เวลาในที่ทำงาน พนักงานก็มาทำงานใช้สติปัญญา แรงกาย แลกผลตอบแทน องค์กรก็ให้ผลตอบแทบแลกสิ่งเหล่านั้น แต่เราคิดว่าการมาอยู่ร่วมกันมันน่าจะเป็นอะไรที่มากกว่านี้และเป็นประโยชน์ด้วย จึงได้เริ่มจากการคิดแบบนี้เพราะถ้าองค์กรก้าวข้ามความคิดแบบนี้ไม่ได้ก็จะเริ่มทำ CSR ในองค์กรไม่ค่อยจะได้ การที่เรามาอยู่ร่วมกันก็แน่นอนว่าเงินนั้นสำคัญ บางคนบอกว่าอยู่กันด้วยใจเงินมาทีหลัง ความจริงก็ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเงินยังไงก็น่าจะมาก่อน การที่ให้เงินอย่างเป็นธรรมได้เรื่องอื่นก็จะตามมาได้ แต่เราระมัดระวังอย่างมากที่ไม่ให้เงินเป็นพระเจ้า ที่ไหนที่ให้เงินอยู่เหนือสิ่งอื่นใดก็คงจะบรรลัยนะ อยู่กันลำบากน่าดูเพราะทุกอย่างเป็นเงินหมด เงินต้องเป็นธรรมนะครับอย่าให้เงินมาขี่คอเรา เราต้องอยู่กันด้วยความดี ถ้าทำได้ก็จะมีความผาสุขและเข้มแข็ง การยึดเอาเงินเป็นที่ตั้งก็จะนำไปสู่การทำลายล้างได้และสังคมก็จะเสื่อมแน่ ถ้าจะเยียวยาต้องเปลี่ยนคำถามจาก ทำยังไงจะรวย มาเป็นทำดีอย่างไร ถ้าถามคำถามนี้เรื่อยๆเราก็จะคิดในสิ่งที่เราพึงกระทำและสิ่งดีๆจะตามมา คนที่เดินตามรอยนี้คิดว่าไม่มีทางจนแน่ ทำอย่างไรให้คนคิดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน ทำอย่างไรให้คนไม่พกความโลภมาแต่เป็นให้พกความเสียสละแทน ทุกอย่างก็จะนำไปสู่ความเกื้อกูล คนเรามักจะรอคนอื่นให้ทำถ้าคนอื่นไม่ทำเราก็ไม่ทำ อันนี้ก็มักจะเป็นข้ออ้างเราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน คนเรากลัวแต่ว่าถ้าเราทำแล้วคนอื่นไม่ทำ ก็จะเสียแรงเปล่า สิ่งที่เราทำมันก็จะค่อยๆขยายผลเอง ถ้าเต็มไปด้วยคนเสียสละทุกๆคนทุกๆที่ก็จะสบาย ความกตัญญูไงครับที่เป็นแนวทางทำความดี ถ้าเรารู้สึกถึงความกตัญญูเราก็จะเป็นผู้ให้โอกาสในการทำดีมากขึ้น ที่โรงงานเราจะหาคนดีเนี่ยต้องมีการหาความกตัญญูก่อน พอเจอแล้วก็ฉีดยาเร่งต่อมกตัญญูให้เบ่งบานและต้องกระตุ้นเรื่อยๆ ความเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลง การเสียสละก็จะนำไปถึงความสุขได้เหมือนกันไม่ใช่ว่าเป็นผู้รับจะมีความสุขฝ่ายเดียวเสมอไป ถ้ามีการนำความกตัญญูบวกกับวินัยเนี่ยรับรองว่ากองทัพก็จะแข็งแกร่ง” คุณอภิชาติได้เปิดคลิปวีดิโออีกชุดพร้อมเพลงประกอบซึ่งแฝงไปด้วยปณิธานของบริษัทที่ว่า “มุ่งสร้างคนดี แทนคุณแผ่นดิน” แหม ช่างสุดยอดจริงๆครับและซึ้งมากๆด้วย
(พี่หนึ่ง)ในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมระหว่าง CSR ระดับภาคกลาง และ CSR ระดับจังหวัดก็คือจังหวัดชลบุรี ซึ่งในส่วนกิจกรรมของ CSR ระดับภาคกลางมีกิจกรรมการประชุมระดมสมอง CSR ระดับภูมิภาค (ภาคกลาง) ด้วยโดยมีอยู่ 5 กิจกรรมด้วยกัน ซึ่งแต่ละกิจกรรมมาจากการระดมของคนที่อยู่จังหวัดในภูมิภาคลำเนาภาคกลางโดยมีกิจกรรมดังนี้
มาถึงช่วงกิจกรรมหาโครงการระดับภาคกลางครับ กิจกรรมแรกมาจากของกลุ่มก้านกล้วยโดยประเด็นปัญหาสืบเนื่องมาจากภาคกลางเป็นภาคที่มีช้างอยู่จำนวนมากทั้งช้างป่าและช้างบ้าน โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในภาคกลางไม่มีความเชื่อมโยงต่อกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อแหล่งอาหารของช้าง ทำให้เกิดปัญหาควานช้างนำช้างดังกล่าวออกมาหากินในพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแก่ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว จึงมีการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา อบรม ให้ความรู้เรื่องช้างแก่บุคคลที่สนใจหรือหน่วยงานทั่วไป เพื่อให้บุคคลและหน่วยงานมีการร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการประชาพิจารณ์ เพื่อผลักดันวิธีแก้ไขที่ได้จากการประชาพิจารณ์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งหากกิจกรรมดังกล่าวเกิดความสำเร็จจะทำให้ปัญหาช้างเร่ร่อนในชุมชนเมืองลดลงด้วย
กิจกรรมถัดมาของกลุ่มรักสิ่งแวดล้อมโดยประเด็นปัญหามาจากในภาคกลางมีประเด็นปัญหาด้านมลพิษอยู่มากในบริเวณจังหวัดที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่น มลภาวะทางอากาศในจังหวัดระยอง มลพิษทางน้ำทั้งในจังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดอยุธยา และกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่กระทบแก่ประชาชนบริเวณดังกล่าวโดยตรง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าควรมีการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในโรงงานดังกล่าว รวมถึงชุมชนต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสอดส่องดูแลโรงงานอีกทั้งยังต้องร่วมคิดแนวทางป้องกันและแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมไม่ว่าจะเป็น บทกฎหมาย ข้อบังคับ เป็นต้น ในการดำเนินบทลงโทษแก่โรงงานที่ยังละเมิดกฎหมายหรือข้อบังคับอยู่ ซึ่งทางกลุ่ม 6 จังหวัด 12 ชีวิตได้มองประเด็นปัญหาด้านมลพิษเช่นเดียวกับกลุ่มรักสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมจะเน้นการเพิ่มแหล่งเรียนรู้ด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนเกิดการตระหนักถึงภัยจากมลพิษที่โรงงานปล่อยออกมา รวมทั้งยังเป็นการสร้างให้ประชาชนมีการตรวจสอบโรงงานโดยอัตโนมัติด้วย ซึ่งจะทำให้โรงงานดังกล่าวมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น
สุดท้ายมาถึงกลุ่มเกษตรก้าวหน้าตามรอยพ่อ โดยประเด็นปัญหามาจากการใช้ปุ๋ยเคมีในสินค้าเกษตรมากเกินไป จนกระทั่งผู้ผลิตยังไม่กล้าบริโภคผลผลิตของตนเอง ทั้งยังเป็นการทำให้ดินบริเวณที่เพาะปลูกดังกล่าวเกิดความเสื่อมสภาพของหน้าดินในระยะยาวอีกด้วย โดยกิจกรรมของกลุ่มจะเน้นการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อตระหนักถึงผลเสียของการเกษตรที่เน้นการใช้สารเคมีมากเกินไปและมีการให้ความรู้เรื่องวิธีการปลูกเกษตรอินทรีย์ และการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อทำให้เกิดการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายผ่านทางปราชญ์ชาวบ้าน โดยนำองค์ความรู้กล่าวไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านอย่างเหมาะสม ส่วนความร่วมมือจากทางภาครัฐอยากให้ภาครัฐมีการจัดสรรที่ดิน เพื่อใช้เป็นแปลงสาธิตโดยให้เกษตรอำเภอและจังหวัดมามีส่วนร่วมในการจัดการ และให้ประชาชนในชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งอาจมีการก่อตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับท้องถิ่นโดยภาครัฐควรมีการประเมินผ่านตัวชี้วัดเช่น ผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุน คุณภาพของผลผลิต เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพก็จะมีกิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์เช่นกัน แต่มีการเน้นการปลูกพืชสมุนไพรประจำท้องถิ่นแทน และมีการจัดตั้งศูนย์สมุนไพร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรประจำท้องถิ่นอีกด้วย
(นายแม็กซ์) มาถึงกิจกรรม Creative CSR ของจังหวัดชลบุรีนั้นเราได้ “โครงการให้ความรู้กับชุมชน” ไปตามชุมชนและสถานที่ต่างๆเพื่อเสริมสร้างภาษาอังกฤษเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เน้น concept ว่าภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียวหรือภาษาอังกฤษเพื่อชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นเสียง เสียงตามสายศูนย์บริการท่องเที่ยวและวิทยุเสียงตามสาย กำหนดกลุ่มเป้าหมาย แม่ค้า คนขับรถ พร้อมแจกใบสมัคร ทำการประเมินผลการจัดทำโครงการ 3เดือนโดยใช้แบบสำรวจลงพื้นที่ต่างๆ สามารถสร้างรายได้ในการขายสินค้า สร้างภาพลักษณ์ให้กับชุมชนในด้านการท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างรายได้ในการขายสินค้าและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“โครงการพิชิตฝันสู่เส้นทางอาชีพ” เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมต้น เข้าเยี่ยมชมโรงงานเพื่อทราบขบวนการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานในอนาคต จัดหาพันธมิตรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่สนับสนุนโครงการ จัดหาวิทยากรหน่วยละ 1ท่านเพื่อให้ความรู้กับผุ้มาเยี่ยมชม เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถตัดสินใจในการศึกษาต่อในอานาคตได้ มีการประเมินผลผู้เข้าร่วมเยี่ยมชม จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา เพื่อให้นักเรียนที่สนใจจำนวน 1ทุน เพื่อกลับมาทำงานที่หน่วยงานที่ได้ทำการสนับสนุนให้ การที่นักเรียนประสบความสำเร็จจากโครงการนี้ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ได้ทำงานตามสายงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การบรรยายในวันนี้ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีครับและก็มีทีมสีชมพูจาก CSR Day ที่มาสมทบในช่วงท้ายด้วย ตอนนี้เราได้มารวมตัวกันหมดแล้วทั้งหมดก็เกือบๆ 20คนเห็นจะได้ ดูท่าทุกๆคนก็จะหมดแรงกันครับ ไม่รอช้าหลังจากที่เก็บสัมภาระทุกอย่างหมดครบแล้วเรามุ่งหน้าสู่ร้านอาหารริมทะเลยทันที เน้นที่อาหารอร่อยวิวสวย ราคาแพงไม่เกี่ยง เพราะวันนี้ผู้ที่อยู่เบื้องบนก็มาด้วย(คนที่คุณก็รู้ว่าใคร) เหอๆๆ วันนี้ก็ดูทุกๆคนมีความสุขกันมากครับเพราะนานๆทีจะได้รวมตัวกันขนาดนี้ เป็นอย่างไรบ้างครับท่านผู้อ่านในที่สุดงาน CSR Campus ของจังหวัดในภาคกลางก็จบลงด้วยดีนะครับ แต่ก็อย่าลืมติดตาม Blog ของพวกเราต่อไปนะครับ เพราะยังมีกิจกรรม CSR Campus ในภาคต่าง ๆ ต่อไปอีกครับ (ยังไม่จบนะครับ)
ไว้เจอกันใหม่ครับ พี่น้องชาว Blog
ไว้เจอกันใหม่ครับ พี่น้องชาว Blog
เจ้านายท่าทางจะใจดีเนอะ ขอสมัครอยู่ที่สถาบันไทยพัฒน์ด้วยคน Blog ชลบุรีเนื้อหาเยอะมาก แต่น่าสนใจ เดี๋ยวมาอ่านต่อวันหลังนะ
ตอบลบโอ้โฮะ........
ตอบลบคนเยอะมากๆๆ ยิ่งใหญ่จริงๆ ค่ะ และที่สำคัญงานนี้เป็นงานระดับภาคกลาง คนเยอะและก็โครงการต่างๆ ก็ดีมาก ชอบค่ะ เพราะเป็นการระดมสมองมาจากผู้คนที่ต่างคนต่างมาก โดยส่วนตัว ชอบรูปแบบการจัดงาน CSR ของสถาบันไทยพัฒน์ มากค่ะ อาจารย์พิพัฒน์ก็หล๊อ หล่อ รวมถึงทีมงานทุกคนก็หน้าตาดี อิอิ