วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยโสธร





Yeah Yeah ! วันนี้เป็นวันสุดท้ายของทริปอีสานในรอบอาทิตย์นี้แล้วครับ โดยวันนี้กระผมก็ปักหลักอยู่ที่จังหวัดยโสธรนั่นเอง (คิดถึงกรุงเทพฯเหลือเกิน) หลังจากกระผมตื่นนอนขึ้นมาก็ออกมานอกระเบียงซะหน่อย (ต้องยอมรับครับว่าเป็นโรงแรมที่มีระเบียงอยู่โรงแรมเดียวตั้งแต่มาทริปอีสาน) มองวิวข้างนอกค่อนข้างสวยมากครับ เห็นสีเขียวของผืนหญ้าตัดกับสีฟ้ากับท้องฟ้าด้วย และที่ใกล้ ๆ ก็จะเป็นเทศบาลเมืองยโสธรครับ ยืนคิดสักพักว่าขนาดที่นี้เป็นอำเภอเมืองนะเนี่ย ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติขนาดนี้ เมื่อเทียบกับจังหวัดอุบลราชธานีที่ผมไปมาต้องยอมรับครับว่าความเป็นเมืองใหญ่ครอบงำอำเภอเมืองไปหมดแล้ว แม้กระทั่งอำเภอข้างเคียงด้วยอย่างอำเภอวารินชำราบที่สามารถสะท้อนความเป็นเมืองใหญ่จนบดบังความเป็นธรรมชาติเหลือเพียงนิดเดียว ซึ่งความคิดสะท้อนผ่านความรู้สึกส่วนตัวนะครับ เพราะว่าผมเป็นคนชอบธรรมชาติ และหากความเป็นธรรมชาติสามารถผสมผสานสอดคล้องกับความเป็นเมืองอย่างลงตัวแบบจังหวัดยโสธร กระผมก็ยิ่งชอบขึ้นไปอีก

หลังจากผมปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็มาดูข่าวต่อแต่วันนี้ลองมาดูข่าวบันเทิงบ้างรู้สึกจะเป็นช่องอะไรไม่รู้ แต่เป็นรายการแฉแต่เช้า On TV ซึงวันนี้ไม่ค่อยมีเรื่องดาราซะเท่าไหร่แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับควันหลงในเรื่องของน้องนักเรียนที่ไปใช้บริการจัดฟันเถื่อนซะมากกว่า ต้องยอมรับนะครับว่าคุณมดดำด่าได้รุนแรงมาก ซึ่งบางท่านอาจจะให้ระดับของคำพูดอยู่ในช่วงหยาบคายได้ทีเดียวแต่กระผมกลับมองว่าคำพูดที่หยาบคายออกมาเพื่อสะท้อนถึงผลลัพธ์ของการกระทำอันโง่เขลาที่รับจัดฟันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตกสู่น้องนักเรียนคนนั้นถือเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งครับ (อยู่แค่นี้ดีกว่า ก่อนที่กระผมจะเริ่มหยาบคายเหมือนคุณมดดำบ้าง) และตอนนี้พวกกระผมก็พร้อมจะลงไปทานอาหารเช้าข้างล่างแล้วครับ

วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่วงการอาหารโรงแรมสั่นสะเทือนเหมือนกันอีกวันหนึ่ง (คล้าย ๆ ที่จังหวัดตราดนั่นแหละ) เมื่ออาหารตามสั่งมีรายการอาหารมากกว่าข้าวต้มและ American Breakfast โดยมีรายการเสริมเพิ่มขึ้นมาเช่น ข้าวผัด และ ข้าวผัดกระเพราด้วยครับโดยส่วนตัวเข้าใจว่าข้าวหอมมะลิของยโสธรเป็นของดีของที่นี้ กระผมจึงเลือกข้าวผัดกระเพราทะเล (แหม ก็อยากรู้เหมือนกันว่าอาหารทะเลที่ยโสธรเป็นอย่างไรบ้าง) หลังจากนั่งรออาหารสักพักอาหารแต่ละรายการก็เริ่มมาเสิร์ฟพร้อมหน้าครับ ซึ่งกระเพราทะเลของผมมีลูกชิ้นปลา (อย่างน้อยก็ปลาน่ะ) กุ้ง (สภาพสดคล้ายแป้งเลยครับ) และหมึก (ค่อนข้างดีหน่อย) แต่เมื่อลองทานดูก็รู้สึกว่าอร่อยนะครับ รสชาติค่อนข้างจัดจ้านฉีกกฎรสชาติอาหารโรงแรมไปทันที

หลังจากเรารับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วก็เริ่มเข้าห้องประชุมโดยปกติเพื่อเตรียมงานต่อไป แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดอีกแล้วเมื่อเครื่องเสียงไม่ทำงาน ไม่มีเสียงออกมาจากลำโพงครับและช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ค่อยมีพนักงานโรงแรมมาสนใจเท่าไร (เฮ้อ ปัญหาหน้างานมาอีกแล้ว) อาจจะเป็นเพราะช่วง 7.45 น.ยังไม่มีพนักงานมาเข้างานหรือเปล่าก็ไม่รู้จึงต้องรอต่อไปยัน 8.00 น. ก็แล้ว 8.15น. ก็ยังไม่มีผู้ใดมาสนใจเลย สักพักคราวนี้มาเป็นรังเลยครับพนักงานโรงแรมประมาณ 7 -8 คนครับก็เริ่มมาล้อมตัวตู้แอมป์เพื่อแก้ไขปัญหาเครื่องเสียงซะที กระผมก็รู้สึกเบาใจเล็กน้อยคิดว่าสักพักก็น่าจะใช้ได้นะ แต่การใช้กำลังของพนักงานโรงแรมในการเข้าล้อมกดดันให้เครื่องแอมป์ทำงานคงไม่เป็นผลมั้งครับ เพราะขณะนั้นก็ไม่เกิดเสียงผ่านลำโพงซักแอะเลย เราจึงต้องใช้ไมค์จ่อไปที่ Notebook แทนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ซึ่งโดยรวมก็ถือว่ายัง OK กว่าเดิมน่า พอเวลาประมาณ 9.00 น.ก็เริ่มเข้างานแล้วครับโดยวันนี้ก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาเป็นส่วนมากเช่นเดิมและภาคธุรกิจบางส่วนครับ

วันนี้กิจกรรมแรกเรื่องหน้าที่พลเมืองและพลเมืองบรรษัทที่น่าสนใจของชาวจังหวัดยโสธรมีดังนี้เช่น การเป็นผู้มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพของตนเองโดยชอบธรรม ด้วยการทำมาหากินโดยสุจริต และไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม ตัวเอง และสิ่งแวดล้อม ส่วนของพลเมืองบรรษัทอยากให้ธุรกิจแสวงหากำไรด้วยการใช้หลักธรรมาภิบาล เพราะหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักที่ทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรบนพื้นฐานของจริยธรรมได้ หัวข้อต่อมาคือการเป็นผู้มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมด้วยการไตร่ตรองอยู่เสมอว่าสิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำเพราะบางทีการเลี้ยงชีพด้วยการคำนึงถึงระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงกระทบในระยะยาวอาจสร้างปัญหาต่อสังคมได้ ส่วนเรื่องพลเมืองบรรษัทอยากให้ธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งจะสร้างความไว้วางใจของลูกค้าต่อองค์กรได้เช่นกัน

ต่อมาเป็นกิจกรรม CSR เชิงระบบซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจดังนี้เช่น การบูรณาการเรื่อง CSR ทั่วทั้งองค์กรด้วยการต้องสังเกตุก่อนว่าลักษณะขององค์กรเป็นอย่างไร แล้วจึงใช้ความเข้าใจของ CSR ทำการบูรณาการเข้าไปในสถานศึกษานั้น ส่วนหัวข้อต่อมาคือการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนิน CSR ขององค์กรด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องหรือมีประโยชน์กับลูกค้าในหลาย ๆ ช่องทางเช่น SMS เป็นต้น รวมถึงมีการทำกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงตามความต้องการของลูกค้า

ในวันนี้ช่วงอาหารเที่ยงผมได้ร่วมโต๊ะกับอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรยโสธรด้วยบรรยากาศโต๊ะอาหารเป็นกันเองมากครับ อาจารย์ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดยโสธรว่าจังหวัดนี้ถือเป็นต้นกำเนิดประเพณีบั้งไฟเลยนะครับ โดยสมัยก่อนวัตถุประสงค์ประเพณีบั้งไฟมีไว้เพื่อขอฝนให้ตกตามฤดูกาลเฉย ๆ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเพื่อความสนุกสนานไปแล้ว เพราะบางช่วงที่มีการจัดเทศกาลจะมีเม็ดเงินเข้ามาสะพัดเป็นหลักล้านเลยนะครับ (ย้ำว่าหลักล้าน) แม้ว่าจะเป็นประเพณีที่ดีแต่ก็สร้างผลกระทบทางเชิงลบมากเช่นกันเพราะเศษบั้งไฟที่ตกลงมาแถมยังมีมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นด้วย แถมตอนช่วงมีเทศกาลบั้งไฟทีไรก็ต้องมีของมึนเมาเข้ามาประกอบในงานด้วยรวมถึงการพนันว่าบั้งไฟไหนจะสูงที่สุดหรือตกก่อนอีกต่างหาก (ไม่น่าเชื่อว่าประเพณีที่ดีกลับกลายเป็นเรื่องร้ายไปซะได้) และอาจารย์ยังกล่าวต่อว่าของดีที่จังหวัดยโสธรก็คือข้าวหอมมะลินั่นเองโดยข้าวที่นี้จะหอมมากและมีความนุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ บางทีเวลาจะซื้อไปฝากพี่น้องต่างจังหวัดต้องซื้อไปเป็น 100 กิโลกรัมเลยก็มี ทำให้ตอนนี้ Enjoy กับการรับประทานข้าวหอมมะลิของโรงแรมที่นี้เหลือเกิน (จะผอมมั้ยเรา)

สุดท้ายเป็นกิจกรรม Creative CSR ที่น่าสนใจของชาวจังหวัดยโสธรดังนี้ “โครงการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ” เนื่องจากการเพาะข้าวหอมมะลิในปัจจุบันของจังหวัดยโสธรยังถูกจำกัดเป็นบางอำเภออยู่ทำให้ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดยังน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นโครงการดังกล่าวจะเน้นการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกไปยังอำเภออื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มแหล่งน้ำผ่านคลองชลประทานไปยังพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์แก่เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคจะมีข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพไว้บริโภคด้วย

โครงการต่อมาคือ “โครงการเครื่องสานไม่ธรรมดานำพารายได้” โดยการโครงการจะเน้นการให้ความรู้วิชาชีพด้านการจักสานให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสานท้องถิ่นรวมถึงยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย โดยโครงการจะเริ่มการอบรมและให้ความรู้แก่ผู้สนใจรวมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายแก่ผลิตภัณฑ์จักสานต่าง ๆ ของสมาชิกด้วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถระบายทั้งในประเทศรวมถึงต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้จะสามารถสร้างประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังตกงานให้มีงานทำอีกด้วย

โครงการสุดท้ายคือ “โครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน” เนื่องจากชุมชนในปัจจุบันยังมีปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ยาเสพติด วัฒนธรรม การออม และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นต้น จึงมีการริเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นด้วยการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการจัดกิจกรรมกีฬา การอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การดำรงรักษาวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และการให้ความรู้เรื่องออมทรัพย์ด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ทั้งตัวเราเองและชุมชนดังกล่าวด้วย

วันนี้ผมมีโอกาสสนทนากับอาจารย์บุษกร พืชเพ็ญ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรยโสธร โดยท่านได้กล่าวว่า “วันนี้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง CSR ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากเนื่องจากทางวิทยาลัยมีนโยบายที่จะคิดหลักสูตรในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงโดยหนึ่งในหัวข้อของเศรษฐกิจพอเพียงข้อหนึ่งได้แก่เรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่ง CSR สามารถเติมเต็มเรื่องจริยธรรมได้อย่างดีมาก และในส่วนของเรื่องพลเมืองบรรษัทสามารถเผยแพร่ได้อยู่แล้วผ่านการสอนที่เน้น Case Study ขึ้นมาอธิบายเพิ่ม รวมถึงจะให้นักศึกษาร่วมอภิปรายว่าวิทยาลัยยังขาดพลเมืองบรรษัทในข้อไหนบ้าง และต้องเพิ่มเติมข้อไหนบ้างอีกด้วย”

และในที่สุดงาน CSR Campus ในจังหวัดภาคอีสานของอาทิตย์นี้ก็จบลงด้วยดี หลังจากเราเก็บของเรียบร้อยก็ออกเดินทางไปดูร้านสินค้า OTOP ของจังหวัดยโสธรทันทีโดยภายในร้านจะประกอบไปด้วยสินค้าที่นำข้าวมาประยุกต์เป็นโมบายบ้างก็มี และก็มีหมอนขิดด้วยครับ (หมอนขิดคล้ายกับหมอนขวานที่แถวบ้านผมเรียกแหละครับ) หลังจากเราซื้อของกันเสร็จเรียบร้อยกระผมก็ไปเห็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจที่หนึ่งนั่นก็คือ พระธาตุก่องข้าวน้อย ครับซึ่งสมัยกระผมหนุ่ม ๆ ก็เคยได้รู้เรื่องราวมาบ้างเกี่ยวกับที่ลูกฆ่าแม่เนื่องจากความโมโหหิวข้าว หลังจากแม่ตายก็สำนึกผิดจึงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อแสดงถึงความสำนึกผิดที่ฆ่าแม่ด้วยความโมโห ระหว่างที่กำลังนั่งรถตู้เพื่อจะไปพระธาตุก่องข้าวน้อย กระผมก็นั่งคิดถึงตำนานดังกล่าวว่าการสร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่อสำนึกในความผิดที่ตนฆ่าแม่ไปนั้นถือว่าเป็นการทำ CSR แล้วเช่นกัน (สังคมไทยมี CSR มีมาตั้งนานแล้วนะเนี่ย)

หลังจากถึงที่หมายแล้วทีมงานก็เข้ากราบที่พระเจดีย์ก่องข้าวน้อย แล้วก็เดินทางไปทานอาหารที่ตลาดในเมืองยโสธรครับ (วันนี้ต้องรีบทานไว ๆ หน่อยเพราะการเดินทางจากยโสธรถึงกรุงเทพฯต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมงทีเดียว) และเมื่อเราทานอาหารกันเสร็จแล้วก็เริ่มออกเดินทางไปกรุงเทพฯ ในเวลา 18.00 น.ครับ ช่วงเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่ก็จะเห็นทีมงานหลับกันเกือบหมดยกเว้นพี่รถตู้นะครับ โดยทีมงานทุกคนมีผ้าห่มและเสื้อกันหนาวกันเรียบร้อย ส่วนตัวกระผมไม่มีอาภรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นยกเว้นเสื้อ CSR สีขาวสุดหล่อไว้บรรเทาความหนาวเพียงอย่างเดียว ในใจนึกแต่ว่าก่อนออกเดินทางไม่น่าไปแซวคนอื่นไว้เยอะเลยในเรื่องผ้าห่ม ในที่สุดเราก็ถึงกรุงเทพฯแล้วครับในเวลา 1.00 น.ตอนนี้มองหน้าทีมงานแต่ละคนมีสภาพอ่อนเปี้ยเพลียแรงอย่างเห็นได้ชัดหน้าตาทีมงานแต่ละคนเหมือนเพลี้ยญี่ปุ่นเลยครับ (เพลี้ยญี่ปุ่นหน้าเป็นยังไงหว่า) หลังจากเก็บของเสร็จเรียบร้อยกระผมก็มุ่งหน้าสู่วิมานผืนน้อยที่อบอุ่นแถวแยกเกษตรแล้วครับ สุดท้ายหวังว่าทุกท่านคงจะสนุกกับเรื่องราวที่ผ่านมาของกระผมนะครับ อย่าลืมติดตาม Blog ของพวกเราต่อไปนะครับว่าอาทิตย์หน้าเราจะไปเจอประสบการณ์อะไรบ้างในทริปจังหวัดภาคอีสานครั้งต่อไป

ราตรีสวัสดิ์ครับ พี่น้องชาวไทย

2 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วขำดีค่ะ เพิ่งรู้ว่ามีพระธาตุก่องข้าวน้อยด้วย ว่าแต่ว่าเค้าสะกดก่องข้าวน้อย หรือกล่องข้าวน้อยคะ ใครรู้ช่วยบอกทีค่ะ

    ไม่เคยรู้ว่ายโสธรดังเรื่องการจักสานด้วย แต่เรื่องข้าวเนี่ยพอรู้บ้างค่ะ แล้วเค้าก็มีปราชญ์ชาวบ้านที่ทำเกี่ยวกับเรื่องโรงสีข้าวชุมชนด้วยนะคะ

    ตอบลบ
  2. ตอบความคิดเห็นที่ 1 ฮะ
    เขาเรียก ก่องข้าวน้อย เพราะคำว่า "ก่อง" ในภาษาอีสาน แปลว่า กระติ๊บใส่ข้าวเหนียว

    ที่รู้เนื่องจากเป็นคนภาคอีสานเหมือนกัน ฮะ

    ตอบลบ