วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมุทรสงคราม


วันนี้ก่อนที่จะตื่นก็รู้สึก....นอนเพียงพอมากเลยครับ...เพราะว่าเริ่มนอนตอนประมาณ 22.00 น. พอเริ่มสักประมาณตีห้าผมก็เริ่มกระสับกระส่ายเหมือนคนนอนพอแล้วอยากตื่น แต่ร่างกายก็ไม่ยอมฟังจิตใจยังพยายามเนียนหลับต่อไปเรื่อยๆ จนเสียงนาฬิกาปลุกดังพร้อมการมาเยือนของแสงแดดยามเช้าที่เวลา 6.10 น. พอหันมามองพี่บอยก็เห็นทั้งร่างกายและจิตใจยังหลับสนิท(สนม)กันดีอยู่ สักพักผมก็เริ่มทำธุระส่วนตัว จนเสร็จเรียบร้อยพร้อมออกไปทานอาหารเช้ากับพี่บอยครับ

วันนี้สถานที่ทานอาหารเช้าช่างบรรยากาศดีมากๆๆๆๆๆ ทีแรกมองไปนึกว่าเรานั่งทานอาหารเช้าท่ามกลางทะเลครับ แต่ที่ไหนได้มันเป็นบ่อครับ แค่ตัวบ่อก็มีขนาดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่แล้วครับ ช่างกว้างขวางยิ่งนัก ลองถามพี่พนักงานว่ามีบ่อขนาดใหญ่แบบนี้มีไว้ทำอะไร เค้าก็ให้คำตอบว่า เอาไว้เลี้ยงปลาเล่นๆๆ (ขนาดเลี้ยงเล่นๆ ถ้าเลี้ยงปลาจริงจังคงประมาณ 1,000 กว่าไร่แน่เลย) ล่วงเลยมาถึง 8.00 น.ก็เป็นเวลาที่พวกเราต้องเริ่มจัดห้องประชุมกันแล้วครับ วันนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และหน่วยงานที่เป็นทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ครับ

เริ่มแรกกิจกรรมวันนี้เป็นเรื่องหน้าที่พลเมือง ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การเป็นผู้มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพของตนเองโดยชอบธรรม โดยเน้นความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานเป็นที่ตั้ง และ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ทำให้เกิดความสบายใจในการทำงาน ส่วนอีกหัวข้อหนึ่ง คือ การมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัว โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนและนำไปขยายผลสู่ชุมชน

กิจกรรมต่อมาเป็นเรื่อง CSR เชิงระบบที่ชาวจังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความสนใจในหัวข้อการทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR เพราะแทบทุกองค์กรมีการดำเนิน CSR อยู่แล้ว แต่อาจจะยังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร จึงต้องมีการทบทวนและปรับปรุงการดำเนิน CSR ในด้านที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ส่วนหัวข้อถัดมา คือ การสื่อสารเรื่อง CSR โดยต้องการเผยแพร่รูปแบบการดำเนินกิจกรรม CSR ภายในองค์กร เพื่อให้มีการรับรู้ข่าวสาร CSR ขององค์กรอย่างทั่วถึงและสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ หัวข้อสุดท้าย คือ การเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจ โดยสถาบัน KMUTT จะมีการประสานกับองค์กรธุรกิจในการเข้าไปช่วยเหลือชุมชน ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การเน้นทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เป็นต้น

ช่วงพักทานข้าวตอนเที่ยงวันนี้ เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณสมบัติ (พี่สมบัติก็ได้ครับ เดี๋ยวจะงงหากเขียนว่าคุณสมบัติ) เนื่องจากวันนี้กับข้าวในตอนเที่ยงมีปลาทูด้วยครับ ที่จังหวัดสมุทรสงครามมีปลาทูที่ค่อนข้างมีคุณภาพมาก และส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนามว่า “ปลาทูแม่กลอง” พี่สมบัติได้เล่าถึงข้อเท็จจริงให้ผมฟังว่า ตอนนี้ปลาทูแม่กลองเริ่มเหลือน้อยลง แต่ก่อนแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายที่สะอาดมากเมื่อเทียบกับแม่น้ำสายอื่นในประเทศไทย (ตามการอ้างอิงจากปริมาณออกซิเจนในน้ำ) และจะติดกับทะเลพอดีโดยมีส่วนที่น้ำทะเลหรือน้ำเค็มมาบรรจบกับน้ำจืดเรียกว่าเป็นเขตน้ำกร่อย พอโรงงานต่างๆ มีการสูบนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปใช้ เมื่อรวมกับการสูบน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปสู่แม่น้ำสะแกกรังด้วย จึงทำให้น้ำทะเลหนุนเข้ามามากขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมทางแม่น้ำเปลี่ยนซึ่งส่งผลต่อปริมาณปลาทูแม่กลองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบนี้ยังส่งไปถึงชาวสวนที่ปลูกผลไม้ต่างๆ ด้วย (การที่จังหวัดสมุทรสงครามได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีคุณภาพดี เคล็ดลับหนึ่งมาจากการใช้น้ำกร่อยในการเพาะปลูกดูแลรักษานี่เอง) ครั้นเมื่อสายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มีผลทำให้พื้นที่น้ำกร่อยเดิมกลายสภาพเป็นน้ำเค็ม ซึ่งปัญหาดังกล่าว หากไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลาทูแม่กลองก็อาจจะกลายเป็นตำนานไปเลยก็ได้

ในช่วงกิจกรรมกลุ่ม CSR เชิงสร้างสรรค์ มีการคิดค้นกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ “โครงการสร้างสรรค์ใต้สะพานพุทธฯ” (มิใช่สะพานพุทธฯ ในกรุงเทพฯ นะครับ) โดยมีการเสนอเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่บริเวณใต้สะพานพุทธฯ (เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งทิ้งขยะ เพราะไม่มีการใช้สอยให้เกิดประโยชน์) เพื่อสร้างสนามเด็กเล่นและลานกีฬาสำหรับเป็นแหล่งออกกำลังกายของเยาวชนในจังหวัดสมุทรสงคราม

กิจกรรมที่น่าสนใจถัดมาคือ “โครงการเที่ยวแม่กลอง-ลองไม่ใช้โฟม” ที่จะเน้นการสร้างจิตสำนึกทั้งในชุมชนและนักท่องเที่ยวต่อการใช้กล่องโฟม เนื่องจากในเขตจังหวัดสมุทรสงครามจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นมาก เช่น ตลาดน้ำอัมพวา แต่ด้วยเหตุที่แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวไม่มีมาตรการจัดการด้านขยะที่เพียงพอ ทำให้ขยะกล่องโฟมมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกิจกรรมสุดท้ายเป็น “โครงการกำจัดขยะชุมชนเพื่อคนแม่กลอง” ที่จะเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจประเภท Home Stay มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภทของขยะว่ามีทั้งที่มีมูลค่าและไม่มีมูลค่า หากเป็นขยะที่มีมูลค่าก็ควรนำไปรีไซเคิลหรือนำไปขายได้ ส่วนขยะที่ไม่มีมูลค่าก็ต้องให้ชุมชนเรียนรู้ถึงการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อประโยชน์ในการนำขยะกลับมาแปรสภาพใช้ใหม่หรือการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณปิยทัศน์ ทองไตรภพ ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี โดยท่านได้ให้ทัศนะต่อการได้เข้าร่วมงานในวันนี้ว่า “เดิมที ทางหน่วยงานก็ได้ทำ CSR เป็นปกติอยู่แล้ว แต่การมาฟังในวันนี้ ทำให้รู้เรื่อง CSR ครบทุกด้านมากขึ้น รวมถึงประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากการทำ CSR ที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับเนื้อหาในส่วนของการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี จะมีการคุยกับทีมงานเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ดังกล่าว และเชื่อว่าจะสามารถนำไปเผยแพร่ให้แก่นักศึกษาได้อย่างแน่นอน”

หลังจากกิจกรรมแคมปัสที่สมุทรสงครามได้สิ้นสุดลง ผมมานั่งคิดว่าสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีการทำเกษตรกรรมค่อนข้างมาก (ไม่ค่อยมีโรงงานเลยครับ) แตกต่างกับจังหวัดสมุทรสาครที่เราจะเดินทางในวันต่อไป หรือที่ทุกคนเรียกกันคุ้นปากว่า “มหาชัย” ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัด ซึ่งหากการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ CSR Campus ในวันพรุ่งนี้สัมฤทธิ์ผล ก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวมหาชัยได้ไม่น้อยกว่าวันนี้เลย (ช่างคิดไปได้นะเรา)

ตอนนี้ล้อรถตู้ก็หมุนพาทีมงานไปไหว้ศาลของเสด็จเตี่ยหรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผมสัมผัสได้ถึงความน่าเกรงขามของสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก บริเวณศาลมีบันทึกชีวประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ที่เมื่อตัวกระผมอ่านแล้ว รู้สึกขนลุกครับ

"กูกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้เป็นโอรสของพระปิยะมหาราช ขอประกาศให้พวกมึงรับรู้ไว้ว่า แผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษได้เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิตเข้าแลกไว้ ไอ้ อี มันผู้ใด คิดบังอาจทำลายแผ่นดิน ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฤๅ กระทำการทุจริตก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อส่วนรวม จงหยุดการกระทำนั้นเสียโดยเร็ว ก่อนที่กูจะสั่งทหารผลาญสิ้นทั้งโคตรให้หมดเสนียดของแผ่นดินสยามอันเป็นที่รักของกูตราบใดที่คำว่า "อาภากร" ยังยืนหยัดอยู่ในโลกกูจะรักษาผืนแผ่นดินสยามของกู ลูกหลานทั้งหลาย แผ่นดินใดให้เรากำเนิดมา แผ่นดินใดให้ที่ซุกหัวนอน ให้ความร่มเย็นเป็นสุข มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น"

ว่ามั๊ยล่ะครับ ท่านผู้ชม Blog ขนลุกเหมือนกระผมหรือเปล่า หลังจากอ่านเสร็จ ผมสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ความรักชาติของคนสมัยก่อนค่อนข้างแรงมาก (บางทีอาจมากกว่าคนในชาติไทยบางคนก็เป็นได้) และเมื่อมองสถานการณ์ในประเทศชาติปัจจุบันที่ยังมีปัญหาไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือด้านการเมือง ผมคิดว่า เราควรฟื้นความสามัคคีของคนในชาติและความรักชาติไทยกลับมาให้ได้ ปมปัญหาต่างๆ ก็น่าจะถูกคลี่คลายไปได้อย่างแน่นอน (หลังจบ CSR Campus แล้วจะไปเป็นนายกฯ ฮา)

เมื่อรถตู้เคลื่อนออกจากศาลกรมหลวงชุมพรฯ เราก็ไปทานข้าวเย็นกันที่ร้านลุงขันธ์ เสร็จเวลา 19.00 น. ฟ้ายังไม่มืดซะทีเดียว เราจึงไปนั่งเรือดูหิ่งห้อยที่ตลาดอัมพวาต่อ (ไม่เกรงใจสังขารตัวเองบ้างเลย) ตลาดน้ำอัมพวาในเวลา 19.30 น. ช่างเงียบเหงานัก รวมกับความมืดอย่างแรง (ไฟไม่ค่อยเปิดเลย) เพราะวันนี้เป็นวันธรรมดา (แหม ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ล่ะก็..ตลาดคงคึกคักจนลืมเดินทางไปจังหวัดต่อไปเป็นแน่) เราพยายามใช้สายตาสอดส่ายหาเรือที่น่าจะยังให้บริการอยู่ และแล้ว...ก็เจอครับ เรือของพี่แอนใจดี (ลักษณะรูปพรรณพี่แอนใจดีเหมือนดามพ์ ดัสกร บวกขนดกๆ แบบจอนนี่ แอนโฟเน่) โดยพี่แอนได้บอกกับทีมงานว่า เรามาได้เวลาที่เหมาะมาก (ประชดหรือเปล่าเนี่ย) เพราะวันนี้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเลย ทำให้น่าจะชมหิ่งห้อยได้สนุกกว่าเดิม เพราะเราจะเห็นหิ่งห้อยได้ใกล้ชิดกว่า เมื่อเทียบกับมาวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

เมื่อทีมงานเราทุกคนได้ถูกบรรจุใส่เรือของพี่แอนเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะได้ดูหิ่งห้อยในเวลางาน (มีใครบ้างจะได้ดูหิ่งห้อยในเวลางาน ฮา) เสียง พรื๊ด ....พรื๊ดๆๆๆ ..เป็นสัญญาณว่า เรือของพี่แอนใจดีกำลังออกจากตลาดน้ำอัมพวาแล้วครับ ในช่วงที่เรือแล่น พี่แอนใจดีก็จะมีการหยุดบ้าง แล่นบ้าง และช่วงหยุดก็จะมีการบรรยายถึงสถานที่ต่างๆ สองข้างทางแม่น้ำที่เรือผ่านไป มีทั้งวัด บ้านริมน้ำ และป่า เป็นต้น และแล้ว...หิ่งห้อย พระเอกในการท่องเที่ยวครั้งนี้ก็ได้ออกมาให้ยลโฉม มันสร้างแสงตามธรรมชาติโดยไม่ต้องยืมแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟแต่อย่างใด ภาพหิ่งห้อยที่รวมตัวกันบนต้นลำพู มันช่างสวยงามมากครับ เหมือนหลอดไฟคริสมาสต์เลยครับ

หลังจากเราแล่นเรือกลับมาที่ท่าน้ำก็กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเต็ม ผมได้ดื่มด่ำกับความสวยงามตามธรรมชาติที่มนุษย์อย่างเราไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นได้เลยครับ แม้ว่ามนุษย์จะสร้างหลอดไฟหรือโคมไฟระย้าที่สวยงาม แต่สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถทดแทนความงามในแบบธรรมชาติได้หรอกครับ (พูดถึงความสวยแบบธรรมชาติก็นึกถึง รัศมี รีสอร์ท ในทริปก่อนหน้า) เพราะฉะนั้นเราควรที่จะช่วยกันรักษาและดูแลธรรมชาติให้อยู่นานเท่านานด้วยนะครับ

หลังจากทัวร์หิ่งห้อยแล้วเสร็จ รถตู้ก็รีบวิ่งหน้าตั้งมายังจังหวัดสมุทรสาครครับ โดยเราใช้ทางลัดที่สุโค่ยมากครับ ลูกรังทั้งนั้น รถตู้สั่นเป็นเจ้าพ่อเข้าเลยครับ พอลงจากรถตู้ก็มีกลิ่นน้ำปลามาต้อนรับก่อนเพื่อนเลยครับ (ก็ดินแดนโรงงานนี่นา) เก็บของเสร็จ เข้าห้องพัก โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ดูนาฬิกาก็เวลา 22.00 น.แล้วครับ ไม่นานร่างกายก็ฟ้องจิตใจให้นอนเหอะ ในเวลา 23.20 น. จิตใจก็ตามใจร่างกายในทันที

อย่าลืมติดตามต่อไปนะจ๊ะ ว่า CSR Campus ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
ราตรีสวัสดิ์ พี่น้องชาวไทย


2 ความคิดเห็น:

  1. ชอบโครงการนี้จังจ้ะ ชื่อเก๋ "โครงการเที่ยวแม่กลอง-ลองไม่ใช้โฟม" ถ้าทำได้จริง เอาแค่ในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวอนุรักษ์ ก็จะกิ๊บเก๋มากฮ่ะ ขอ confirm ว่าปลาทูแม่กลองอร่อยมั่ก มั่ก... โดยเฉพาะปลาทูต้มมะดัน แซ่บหลาย ... ข้อยบ่ใช่ชาวอาทิตย์อุทัยเด้อ เลยบ่ใช้คำว่า "สุโค่ย" เหมียนกับพ่อหนุ่มเขียนเว็บเด้อ

    ตอบลบ
  2. ขอคารวะท่านนายก ท่านจะทำให้คนทั้งประเทศหัวเราะไปกับท่านแน่นอน ท่านเป็นเมื่อไรผมจะเอาลิ้นจี่ไปฝากท่านนะครับ

    ตอบลบ