วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมุทรสาคร


ฮั๊ด...ชิ้ววววว....เสียงจามของผมเองครับ อยู่ภายใต้บรรยากาศอุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียส (โคตะระหนาวครับ) เมื่อเวลาประมาณ 6.15 น. (ใช้การจามเป็นเครื่องมือการปลุกไปในตัว) เหตุเกิดเนื่องจากการที่ไม่ได้ดูว่าทางโรงแรมตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ก่อนหน้านี้เท่าใด เมื่อคืนเข้ามาในห้องก็ไม่ได้สังเกต ทำงานกับธุระส่วนตัวแล้วก็นอน บวกการสอบปากคำพี่บอยก็ได้ให้การว่าคอมเพรสเซอร์ไม่มีการตัดแต่อย่างใด (จากการสังเกตทั้งคืน) เพราะฉะนั้นมันจะหนาวมากๆๆๆ และอุณหภูมิจะคงที่ 18 องศาเซลเซียสตลอดคืน (โชคยังดีแค่จามแต่ไม่เป็นหวัด) ยังไงบทเรียนนี้จะจำไว้ครับ

หลังจากการถกประเด็นเรื่องความเย็นจบลง กระผมก็รีบจัดการธุระส่วนตัว จนกระทั่งเวลา 7.15 น. เราทั้งคู่ก็ลงมารับประทานอาหารที่ห้องซึ่งบรรยากาศค่อนข้างเป็นธรรมชาติมาก มีน้ำตกจำลองด้วยครับ วันนี้ เราเลยทานอาหารเช้าเพลินเป็นพิเศษ โดยไม่คิดว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าอุปสรรคกำลังจะตามมา เมื่อเราพบว่าห้องประชุมที่จองกับโรงแรมไว้ สามารถจุผู้เข้าฟังบรรยายได้ราว 60 คน แต่ในใบรายชื่อที่มีผู้มาลงทะเบียนจริงมีถึง 96 คน (เริ่มเครียดแล้วครับ) ตอนนี้เราเริ่มระดมสมองกันเอง (โดยไม่ต้องรอถึงช่วงเวิร์คช็อปกันแล้ว) ว่าจะจัดโต๊ะเก้าอี้อย่างไร แต่ในที่สุดเราก็จัดออกมาลงตัวจนได้ โดยส่วนตัวแอบไปขอพรจากพระพิฆเนศด้านหน้าโรงแรมว่าขอให้งานสัมมนาวันนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีเถิด (เริ่มเล่นไสยศาสตร์พ่วงด้วย) บรรยากาศวันนี้ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่มาจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร และคนทำงานจากภาคธุรกิจด้วย

ในช่วงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง มีการเลือกอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การเป็นผู้มีความพากเพียรแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพของตนเองโดยชอบธรรม ด้วยการทำงานที่สุจริตและรับผิดชอบในหน้าที่การงาน (CSR ชัด ๆ) ซึ่งหากพนักงานทำงานด้วยความรับผิดชอบสูง สังคมก็จะได้รับประโยชน์ เกิดผลกระทบเชิงลบน้อย หัวข้อต่อมาเป็นการเล่าประสบการณ์ในเรื่องของการเป็นผู้มีความสัตย์ ที่ตนเองเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด ไม่ลักขโมย ไม่ทุจริตแม้กระทั่งการลอกข้อสอบ รักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วยการทำงานเต็มเวลา ไม่เอาเปรียบที่ทำงาน เป็นต้น

ส่วนหัวข้อกิจกรรม CSR เชิงระบบที่น่าสนใจ มีผู้เลือกหัวข้อการสื่อสารเรื่อง CSR เพราะในบางครั้ง การปฏิบัติ CSR ขององค์กรไม่เป็นที่รับรู้ต่อประชาชน ขณะที่องค์กรก็ไม่รู้ว่าชุมชนต้องการความช่วยเหลืออะไร การสื่อสารที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถเลือกทำ CSR ที่เหมาะสมต่อความต้องการของชุมชนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่องค์กรทำ CSR โดยที่ไม่รู้ความต้องการของชุมชนนั้นๆ อย่างดีพอ

ช่วงกิจกรรมการคิดค้น CSR เชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดสมุทรสาคร มีกิจกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ “โครงการเกลือดีศรีสาคร” ที่จะเน้นการพัฒนานาเกลือควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการนาเกลือให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีการคัดสรรนักศึกษาให้เป็นผู้ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวนาเกลือ ผสมผสานกับการเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสำหรับการประกอบการ อาทิ การบัญชีอย่างง่าย ให้แก่ผู้ประกอบการนาเกลือในจังหวัด

กิจกรรมที่น่าสนใจถัดมาคือ “โครงการปลูกป่าชายเลน: Help The Tree World” ที่เน้นการดูแลรักษาป่าชายเลนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการปลูกเพิ่ม ด้วยการเชิญชวนสถานศึกษาต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาปีละ 4 ครั้ง ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวสมุทรสาครและแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย

อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “โครงการมัคคุเทศน์สาครน้อย” เนื่องจากสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีประชาชนสัญจรผ่านไปมาค่อนข้างมาก แต่ยังให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวในตัวจังหวัดน้อยมาก โครงการนี้จึงต้องการสร้างมัคคุเทศน์น้อยจากเยาวชนในจังหวัด เพื่อให้ความรู้เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดได้อย่างถูกต้อง โดยจะสนับสนุนช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุชุมชน และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย

ในวันนี้ กระผมได้มีโอกาสสนทนากับคณะอาจารย์จาก 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร โดยท่านแรก คือ อาจารย์ ดร.เสรี วรพง ภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านกล่าวว่า “โดยส่วนตัวเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้ว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างไร รู้สึกดีที่เห็นภาคธุรกิจลุกขึ้นมาทำ CSR กันมากขึ้น ไม่คิดเพียงแต่จะมุ่งหวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว การมาร่วมอบรมสัมมนา CSR Campus ในวันนี้ ได้ความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ดีและครบถ้วนมากขึ้นด้วย สำหรับเนื้อหาในส่วนบรรษัทพลเมืองจะมีการนำไปสอดแทรกในรายวิชาอย่างแน่นอน อีกทั้งยังต้องมีการนำไปบูรณการในมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย”

สำหรับอาจารย์พิจิตรา ดิสวโรธรรม จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวกับกระผมว่า “ส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะมีการทำ CSR อยู่แล้ว แต่เดิมจะมองการทำ CSR ว่า สังคมจะได้รับอะไรจากกิจกรรมของมหาวิทยาลัยบ้าง พอหลังจากฟังการบรรยายทำให้เห็นมุมมองเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงบทบาทหน้าที่ภายในองค์กรอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องหน้าที่พลเมือง ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น การให้นักศึกษาทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยมีการคิดเป็นชั่วโมงกิจกรรมให้ หรือการนำความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการในส่วนของการตลาดไปถ่ายทอดให้แก่ชุมชนหมู่บ้านสัตว์สี่เหลี่ยม ทำให้ชุมชนดังกล่าวมีความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจมากขึ้น

สุดท้ายเป็นคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์นันกานต์ สุธรรมชัย อาจารย์เรณู มานะกุล และอาจารย์อังคณา ทองยุพา ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “ตอนนี้ธุรกิจต่างๆ ยังขาดการรับผิดชอบต่อสังคมอยู่มาก แม้ว่าจะมีบางธุรกิจที่ให้ความสำคัญแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบทุกด้าน ซึ่งการมาสัมมนาวันนี้ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ CSR เพิ่มเติมครบถ้วน ส่วนความเป็นไปได้ในการนำเรื่องบรรษัทพลเมืองไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษานั้น สามารถดำเนินการได้แน่นอน เพราะส่วนตัวสอนวิชาด้านการขายที่ต้องมีการนำ CSR มาประยุกต์ในเชิงของการบริการหลังการขายอยู่แล้ว ถือเป็นการให้นักศึกษาปฏิบัติไปในตัว นักศึกษาเองจะได้สามารถเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ CSR อย่างชัดเจน

ในที่สุดงาน CSR Campus ณ จังหวัดสมุทรสาครในวันนี้ก็สำเร็จลงด้วยดี บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน (วันนี้สุดยอดจริง ๆ) และเมื่อเก็บของเสร็จเรียบร้อย เราก็ออกเดินทางไปไหว้พระที่วัดเจริญสุขารามวรวิหาร (ทัวร์ไหว้พระ 9 วัด หรือจัดสัมมนากันแน่) วัดนี้มีชื่อเกี่ยวกับพิธีลอดโบสถ์ ยังไงเสีย เรามาแล้วจะไม่ลอดโบสถ์สักครั้งก็กระไรอยู่ ต้องอธิบายก่อนว่าโบสถ์ของที่นี่จะมีชั้นใต้ดินด้วยครับ การลอดโบสถ์ก็คือการเดินเวียนจากข้างบนลอดไปยังชั้นใต้ดินแล้วกลับขึ้นมาใหม่ เดินเวียนไปเรื่อยๆ ในที่นี้ผมเดินเวียน 3 รอบครับ ในระหว่างที่เดินก็จะมีใบเอกสารให้อ่านไปเรื่อยๆ ครับ (เนื้อหาใจความในเอกสารก็จะเป็นการล้างเอาอาถรรพ์หรือความไม่ดีออกจากตัวนั่นเอง)

ขณะที่คนอื่นยังเดินเวียนอยู่นั้น (สงสัยยังล้างอาถรรพ์ออกไม่หมด) ผมได้ใช้เวลานั่งสนทนากับหลวงพ่อ โดยท่านเล่าว่าจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีพื้นที่ติดทะเลและระดับพื้นดินค่อนข้างต่ำ สมัยก่อนเคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บริเวณห้องใต้ดินของโบสถ์เต็มไปด้วยน้ำ สร้างความเสียหายมาก โบสถ์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ได้ถูกปฎิสังขรณ์จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอได้ฟังเรื่องนี้ ก็นึกถึงคำพูดของเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน เคยบอกว่า หากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดแรกที่จะถูกท่วมด้วยน้ำทะเลก็คือ จังหวัดสมุทรสาคร ระดับน้ำทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งขึ้นมาทุกปี เวลายิ่งผ่านไป เหตุการณ์ก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนตัวเพื่อนกระผมคิดว่าที่บ้านน่าจะถอย Speed Boat มาซักลำจะได้ทันใช้ในรุ่นลูกรุ่นหลาน (เพื่อนเราก็ช่างคิดเนอะ ป่านนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้) สนทนากับหลวงพ่อได้สักพัก ทีมงานที่เหลือก็ลอดโบสถ์เสร็จ คณะของเราเลยร่วมกันถวายสังฆทานต่อก่อนจะนมัสการลาหลวงพ่อกลับ

ขณะที่นั่งรถตู้อยู่นั้น กระผมก็นั่งครุ่นคิดว่า สมุทรสาครน่าจะมีการรณรงค์ปลูกป่าชายเลนอย่างจริงจัง เพราะหากเริ่มปลูกป่าชายเลน ณ ตอนนี้อย่างเร่งด่วน และมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าสิ่งแรกเลยที่จะได้คือ เพื่อนผมคงซื้อเรือ Speed Boat มาจอดหน้าบ้านเพื่อให้ตำลึงหรือกระถินขึ้นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ฮา (ล้อเล่นนะครับ) สิ่งแรกเลยคือพื้นที่ชายฝั่งจะมีการกัดเซาะน้อยลง แถมยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งอีกต่างหาก รวมทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำได้ดีอีกด้วย (ขอให้โครงการถูกดำเนินการอย่างรีบเร่งทีเถอะ สาธุ)

คณะของเรามาแวะทานข้าวที่มหาชัย แล้วก็เดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ วันนี้เป็นวันศุกร์แถมยังเป็นวันผลพลอยได้ (เงินเดือน) ออกอีก จึงเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีที่ทำให้รถติดเป็นอย่างมากกกกกก เฮ้อ กว่าจะถึง Office และกว่าจะกลับถึงห้องก็เป็นเวลา 21.00 น. ในที่สุดทริป CSR Campus เที่ยวนี้ ก็จบลงอย่างสวยงามครับ ท่านผู้ชม Blog ทั้งหลาย โปรดติดตามทริปหน้าด้วยนะครับ เพราะจะเป็นสัปดาห์ที่เราจะมีการจัดประชุม CSR Campus ระดับภาค สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ณ จังหวัดชลบุรี รวมอยู่ด้วย

ส่วนวันนี้ขอลาก่อน แต่ก่อนจากลา ขอบอกว่า ราตรีสวัสดิ์ พี่น้องชาวไทย


3 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุโมทนาบุญด้วยคนคร้าบบบบ....

    ว่าแต่ว่าเพื่อนพี่ดู hiso จัง เดี๋ยวนี้ in trend เค้าต้อง moso แล้วพี่ เสนอให้เพื่อนพี่ไปซื้อเรือเอี้ยมจุ้นจะดีกว่าเน้อ

    บ้านอยู่สมุทรปราการ ภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมคล้ายๆกันกับสมุทรสาคร เราน่าจะมาจับมือร่วมกันทำ “โครงการปลูกป่าชายเลน Help the tree World” ให้รู้แล้วรู้รอดไป เพื่อการบูรณาการเนอะ น่าไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ใครมี connection ช่วยทีจ้า

    ตอบลบ
  2. อุ้ยยย จะไม่สบายหรือป่าวคะ จามซะละ

    โครงการดีน่าสนใจทั้งนั้นเลยอ่ะ ดีต่อประเทศชาติเมืองเรามากๆๆๆๆๆ

    ตอบลบ