วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สุราษฎร์ธานี

หมายเหตุ: สำหรับจังหวัดนี้ก็เช่นเคยครับกับการเขียนให้ทุกท่านได้อ่านและติดตามกัน จะใส่ชื่อพี่หนึ่งและกระผม (นายแม็กซ์) ไว้ด้านหน้านะครับ

(นายแม็กซ์) ทีมอาจารย์วุฒิพงศ์ของเราเดินทางจากชุมพรลงไปใต้กว่าเดิม เพราะภารกิจในวันต่อไปเราต้องไปจัดกันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครับ เป็นงานระดับภาคใต้ตามที่ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในบางจังหวัดก่อนหน้านี้ ทีมอาจารย์ฌานสิทธิ์ที่ปฏิบัติภารกิจจากระนองเสร็จก็ตามมาสมทบด้วยเช่นกัน เราเดินทางกันมาเรื่อยๆ และต้องแวะทานอะไรกันก่อนที่จะเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เผื่อว่าต้องเตรียมการอะไรหรือใครเรียกใช้ทางเราจะได้พร้อมเสมอ

จะว่าไปแล้วการเดินทางตลอดทุกๆ จังหวัดที่ผ่านมาของทั้งสองทีมก็ทำให้ผมและพี่หนึ่งได้ประสบการณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะทั้งเรื่องอุปนิสัยคน วัฒนธรรม การใช้ชีวิต ภาษา การแสดงออกต่างๆ การเข้าหาคน ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้นเยอะเลยครับ ถึงจะเหนื่อยกับการเดินทางบ้างแต่ก็คุ้มเกินคุ้ม เราเดินทางมาถึง โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า กันก็เย็นซักนิดหนึ่ง แต่การเตรียมงานต่างๆ ค่อนข้างจะเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนมากก็จะแยกย้ายเข้าห้องพักผ่อนทันที
เช้าต่อมากับใบหน้าที่สดชื่นของทุกคน แขกให้เกียรติมางานของเรากันเป็นจำนวนมากพอสมควร น้องๆ จากสถาบันการศึกษาก็มากันเยอะเช่นกัน แต่ดูแล้วแต่ละคนคุยกันเก่งมากๆ พี่ๆ จากกระบี่ที่เคยจัดอบรมก็มากันยกแก๊งเลย จังหวัดอื่นๆ ก็มาเช่นกัน รู้สึกดีใจมากที่ทุกคนให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะทั้งอยากได้ความรู้เรื่อง CSR หรือมาล่ารางวัล ฮ่าๆ หรืออยากมาฟังผู้บริหารของบริษัทผู้สนับสนุนของเรา หรือเรื่องของคุณธรรม คู่กำไรของ เอเชีย พรีซิชั่น พวกเราก็ยินดีอย่างยิ่งเลยที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกๆ คน
มาถึงการระดมสมองของชาวสุราษฎร์ธานี (และการระดมสมองของทั้งภาคใต้ที่อยู่อีกห้องหนึ่ง) เราได้โครงการของ Creative CSR ที่น่าสนใจหลายโครงการคือ “โครงการลดพลังงาน” เนื่องจากภาคใต้ เป็นภาคเกษตรกรรมซะส่วนใหญ่ พลังงานจากการเกษตรส่วนหนึ่งเกิดจากไฟฟ้า น้ำมัน เชื้อเพลิง ซึ่งสิ้นเปลืองและมีราคาแพงตามเศรษฐกิจและกลไกของตลาด ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดในการลดค่าใช้จ่าย โดยการนำพลังงานกลมาแปลงใช้กับภาคเกษตรกรรม โดยใช้จักรยานเก่ามาดัดแปลง ต่อเข้ากับเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำเข้าแปลงเกษตรกรรม ลดค่าใช้จ่ายทางด้านไฟฟ้า น้ำมัน ลดมลภาวะ ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพดีขึ้น
ต่อมา คือ “โครงการอนุรักษ์พลังงานในครัวเรือน” โดยจัดอบรมให้ความรู้การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ให้แก่ชาวบ้าน จัดทำเอกสารเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน แนะนำการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง เปลี่ยนเป็นแบบประหยัดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างถ้าใช้ให้ดีและถูกวิธีจะสามารถประหยัดพลังงานและเงินของประเทศได้มาก ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายบางส่วนลดลงเป็นการช่วยครอบครัวแบบง่ายๆ ที่ทำกันได้ทุกครัวเรือน

อีกทั้ง “โครงการท่องเที่ยวเมืองคนดี ศรีสุราษฎร์” สร้างเวปไซท์ประชาสัมพันธ์จังหวัด แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว จัดกิจกรรมจังหวัดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น งานชักพระประเพณี งานแสดงสินค้า OTOP จัดประกวดคนดี ศรีสุราษฎร์ เป็นต้น ให้ผู้ประกวดทำกิจกรรม เพื่อสะสมคะแนน อาทิ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว เป็นตัวแทนสอนเชิญชวนชาวต่างชาติให้มาเที่ยว และนำเสนอของดีของจังหวัด รายได้จะเข้าจังหวัดมากขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้เข้าใจถึงวัฒนธรรม ประเพณี และทำให้จังหวัดมีชื่อเสียง
และ “โครงการศูนย์บริการเพื่อชุมช” โดยฝึกอบรมให้มีทักษะวิชาชีพ ออกสำรวจท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการ แจ้งให้ประชาชนได้เข้าร่วม จัดเตรียมสถานที่ในการให้บริการ ติดตามผลดำเนินกิจกรรม เพื่อการพัฒนาต่อไป นักศึกษามีการได้มาฝึกงานจริง เพื่อเป็นประสบการณ์ในการที่จะไปประกอบอาชีพในอนาคต นำความสะดวกมาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
โครงการสุดท้าย คือ “โครงการรักษ์อากาศ” มีการจัดทำอุปกรณ์กรองควันพิษจากท่อไอเสียรถมอเตอร์ไซด์ เพื่อลดมลพิษในอากาศ รณรงค์ให้ความรู้แก่คนในชุมชนให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดจากควันพิษ ตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบ เพื่อหาทีมงานและนักวิจัยมาผลิตอุปกรณ์ หาหน่วยงานสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ผลิตอุปกรณ์ที่ทำจากธรรมชาติ หากลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลอง ประเมินโครงการและสรุปผล สภาพอากาศจะดีขึ้น สุขภาพแข็งแรง ลดการเกิดโรคทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง
(พี่หนึ่ง) มาถึงช่วงเวลาการประชุมระดมสมอง CSR ระดับภาคใต้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รวมชาว CSR จังหวัดต่าง ๆ ภาคใต้ทั้งหมด (ยกเว้น สุราษฎ์ธานี ซึ่งกำลังคิด Creative CSR ในเวลาเดียวกัน) โดยการระดมสมอง CSR ระดับภาคใต้ครั้งนี้เราได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกันครับ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้ระดมความคิดประเด็น CSR ที่สำคัญได้กลุ่มละ 1 ประเด็นด้วยกัน โดยกลุ่มที่ 1 ได้ยกประเด็นปัญหาสำคัญคือ “เรื่องเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อน CSR นั้นต้องมีการสร้างความรู้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ให้แก่เยาวชนทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มปกติอย่างถูกต้อง รวมถึงชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของประเด็นดังกล่าวโดยการขับเคลื่อนการทำ CSR ครั้งนี้ ต้องมีภาคเอกชนและภาครัฐให้การสนับสนุนอีกด้วย รวมถึงภาคสังคมด้วย เช่น สถานศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัวของเยาวชน วัด และบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่น ดารา ดีเจ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้ยกประเด็นที่สำคัญประเด็นที่ 2 คือ “การท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น” เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ และทรัพยากรธรรมชาติทางภาคใต้ถือว่าเหมาะสมมากในการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวแก่ประเทศ โดยแนวทางการขับเคลื่อนจะต้องมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญใน 14 จังหวัดภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีการแต่งตั้งผู้นำทั้ง 14 จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรม CSR ดังกล่าว และยังมีการสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว เช่น ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรภาคเอกชน และภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการจัดสร้างแผนของโครงการในระยะเวลา 5 ปีเพื่อเสนอให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทและสนับสนุนทางงบประมาณอย่างจริงจังอีกด้วย
มาถึงกลุ่ม 3 ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายได้ยกประเด็นที่สำคัญประเด็นที่ 3 ก็คือ “โครงการพูดสั้นได้ใจความ ประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อนเพื่อโลก” โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมในชุมชนวิทยาลัย (สถานศึกษาต่าง ๆ) เพื่อก่อตั้งแกนนำในการอนุรักษ์ และมีการเชิญแกนนำดังกล่าวเข้าร่วมอบรมเพื่อขยายผลให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ และโฆษณาให้ดึงดูดต่อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดอีกด้วย ส่วนของเครือข่ายทำงานนั้นต้องประกอบไปด้วยสถานศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานกระทรวงพลังงาน เป็นต้น และยังต้องมีการพึ่งภาครัฐในแง่ของงบประมาณในการสนับสนุนการก่อตั้งชมรมและกิจกรรมต่าง ๆ อีกด้วย
(นายแม็กซ์) มาถึง CSR ระดับภาคใต้ เราก็ได้รับเกียรติจาก คุณสัมฤทธิ์ สว่างคำ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท เอเชีย พรีซิชั่น จำกัด แทนคุณ อภิชาต การุณกรสกุล อีกเช่นเคย คุณสัมฤทธ์ ได้มาร่วมแชร์ เล่าถึงประสบการณ์ และกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกับทุกๆ คนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นทั้งพนักงานหรือแม้แต่ผู้บริหาร คนไทย คนต่างชาติ ที่บริษัทได้จัดขึ้นทั้งสิ้น เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม เพิ่มระเบียบวินัย เข้าใจซึ่งกันและกัน เพิ่มความสามัคคี รู้จักปรองดอง ช่วยเหลือกัน และไม่เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งทุกๆ อย่างล้วนสำคัญยิ่งกับการพัฒนาองค์กรไปอย่างยั่งยืน เรามีการไปฝึกระเบียบวินัยและพัฒนาตนเองที่ค่ายทหาร แต่ก็ไม่มีใครถอย มีการให้นายทหารมาตรวจกิจกรรม 5 ส. ถึงองค์กร โดยเน้นการทำโทษในแบบของทหาร คือ การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะอยู่ระดับสูงแค่ไหนล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้นในการรับโทษ เราต้องทำโรงงานให้เหมือนบ้าน ให้เป็นที่รักของพนักงาน ปกติแล้วโรงงานส่วนใหญ่จะไม่ชอบให้มีการแต่งงานกันเอง แต่เราตรงกันข้ามและมีการให้รางวัลคู่รักหวานที่สุด พอมีลูก ทางเราก็สนับสนุนทุกๆ อย่างเท่าที่จะทำได้ มีโครงการวันแม่ ที่ทำให้ลูกๆ หลายคนได้กลับบ้าน หรือได้คุยกับพ่อแม่ ได้ปรับความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตามเงินเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้เงินอย่างเป็นธรรมด้วย ปกติแล้วเวลาทำหน้าที่ต่างๆลุล่วงแล้วที่อื่นจะร่วมกันเฮ แต่ที่ เอเชีย พรีซิชั่น ให้ตะโกนว่า เนี้ยบ เป๊ะ ลุย! เนี้ยบ คือ การใส่ใจปฏิบัติงาน ด้วยความระเอียดรอบคอบ เพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด เป๊ะ คือ ปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ให้เสร็จในกำหนดเวลาทุกครั้ง และลุย คือ ทุ่มเทปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ แรกๆ ก็อายไม่กล้าพูดกัน แต่ตอนนี้ทุกคนก็ออกเสียงดังได้อย่างเต็มปากเต็มคำกับความภูมิใจในบริษัทของตน
ไม่ว่าจะฟังกี่ครั้งก็รู้สึกประทับใจกับ เอเชีย พรีซิชั่นจริงๆ ครับ หวังว่าหลายๆ ท่านที่ได้รับฟัง จะนำแนวคิดแบบนี้ไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงานเช่นกัน วันนี้การสัมมนาอาจจะดูยากซักนิด เพราะว่าเด็กๆ ที่มาร่วมงานมีทั้งตั้งใจฟังบ้าง คุยบ้างตามประสาวัยรุ่น เราจึงต้องยืนคุมอย่างเคร่งครัด น้องๆ ที่ตั้งใจฟังก็มีมาถามบ้างว่า เค้าทำแบบนั้นจริงๆ หรอ มีให้นอนกลางวันด้วย ก็ไม่แน่นะครับ น้องๆ ที่สนใจอาจจะได้เข้าไปทำงานที่บริษัทนี้ หรือบริษัทดีๆ อีกหลายแห่งก็เป็นได้

(พี่หนึ่ง) และแล้วก็มาถึงช่วงการเสวนาของท่านผู้บริหารทั้ง 3 ท่านจาก บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มาร่วมเสวนาในหัวข้อ Creative CSR in Slowdown Economy โดยพิธีกรคือ คุณกนกพร ราชโยธา นักจัดรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดชุมพร ซึ่งบรรยากาศในการเสวนาเต็มไปด้วยความสนุกสนานผสมสาระความรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้บริหารจากทั้ง 3 บริษัทดังนี้

เริ่มจาก CAT ทางผู้บริหารก็ได้กล่าวเรื่องของความเป็นมาของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งทาง CAT ก็เป็นผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคมต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ระหว่างประเทศ , Data Com , IT Security , E-business และ ระบบ CDMA เคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ณ ปัจจุบันนี้ทาง CAT ก็ได้มีการทำ CSR ผ่านทั้งภายในองค์กรและนอกองค์กรโดยในส่วนของการทำ CSR ภายในองค์กรก็จะเป็นด้านการทำ CSR ให้หลอมรวมเป็น Master Plan ขององค์กรและที่สำคัญต้องเกิดการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานโดยผ่านการสร้าง DNA สำนึกดีต่อสังคมอีกด้วย ส่วนการทำ CSR ภายนอกองค์กรนั้นทาง CAT ก็ได้มีโครงการต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น โครงการ Young Web Designer และโครงการจิตอาสาบริจาคสิ่งของผ่านพนักงานของ CAT อีกด้วย และในอนาคตทาง CAT ได้มองว่าการทำ CSR ต้องมีการทำอย่างยั่งยืนแข็งแกร่ง และต้องสร้างให้สังคมเกิดการมีส่วนร่วมซึ่งโครงการ CSR Campus ก็ถือว่าเป็นโครงการหนึ่งที่จะทำให้สังคมเกิดการมีส่วนร่วมในเรื่องของ CSR อีกด้วย

ต่อมาเป็นทางผู้บริหารของ Toyota ที่ได้เกริ่นนำว่าทาง Toyota เป็นธุรกิจที่ประกอบกิจการด้านรถยนต์ทั้งผลิตและขาย โดยทาง Toyota มองว่าการทำธุรกิจนั้นไม่สามารถใช้สินค้าเป็นตัวผลักดันธุรกิจอย่างเดียวได้ แต่จำเป็นต้องมีบางอย่างที่สร้างให้ประชาชนเกิดศรัทธากับ Toyota ซึ่งก็คือเรื่อง CSR นั่นเอง โดยทาง Toyota ได้ตระหนักถึงเรื่อง CSR มานานมากแล้วผ่านโครงการถนนสีขาว เนื่องจาก Toyota เป็นบริษัทที่มีการจำหน่ายรถยนต์ค่อนข้างสูงเพราะฉะนั้นก็ควรจะมีส่วนในการช่วยเหลือสังคมในเรื่องของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย โดยโครงการถนนสีขาวจะเน้นการสร้างจิตสำนึกการขับขี่ที่ดีแก่เยาวชนผ่านการขับขี่จริงในเมืองจำลอง ผ่านการแนะนำของพี่เลี้ยงอีกด้วยและในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ณ ปัจจุบันนี้ทาง Toyota ก็มีแนวทางในการทำ CSR ด้วยการสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนแก่ Supplier และ Dealer ต่าง ๆ ให้เข้าถึงว่า CSR คือ การคิด 360 องศาสำหรับการกระทำของเรานั่นเอง เช่น เวลาที่เราจะทิ้งขยะ 1 ชิ้นเราต้องคิดว่าการทิ้งขยะครั้งนี้ของสร้างผลกระทบแก่ใครบ้างในมุมมอง 360 องศา เป็นต้น และทาง Toyota จะเน้นการทำ CSR แก่ชุมชนให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นโดยลดการทำ CSR ในรูปแบบการบริจาคให้ลดลง แต่จะเพิ่มในส่วนของการสร้างความรู้และอาชีพแก่ชุมชนทดแทนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

และสุดท้ายก็คือทาง Dtac ซึ่งทาง Dtac ก็มีการดำเนิน CSR มาโดยตลอดและยาวนานเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นโครงการสำนึกรักบ้านเกิด และโครงการทำดีทุกวัน ซึ่งทุกโครงการเติบโตภายใต้รากฐานแนวคิดที่ว่า "ธุรกิจต้องเติบโตไปพร้อมกับสังคมไทย" ซึ่งโครงการแรกของ Dtac ก็คือโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นโครงการที่มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมต้นจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งระหว่างที่เยาวชนเหล่านี้กำลังศึกษาอยู่ต้องมีการทำงานร่วมด้วยเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ในการทำงาน และยังเป็นการสร้างช่องทางให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสได้นำความรู้มาใช้จริงในการทำงาน ก่อนที่จะออกไปทำงานจริง ๆ เป็นต้น (จริง ๆ โครงการ CSR ของ Dtac มีประมาณ 300 โครงการเห็นจะได้นะครับท่านผู้ชม) และแนวทางในการดำเนิน CSR ในอนาคตของ Dtac ก็จะเน้นการเชื่อมต่อ CSR ระหว่างประเทศซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมกิจกรรม CSR ระหว่างกันในแต่ละประเทศอีกด้วย
ในวันนี้ผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีได้แก่ อาจารย์มณฑา หมื่นชนะ โดยอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า “จากทีแรกไม่เคยรู้จักคำว่า CSR มาก่อนแต่มาวันนี้ทำให้รู้ว่า CSR คือความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งจะทำให้ช่วยให้นักศึกษารู้บทบาทหน้าที่และสร้างประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วยรวมถึงความรู้ส่วนนี้ต้องมีการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังอีกด้วย ส่วนเรื่องพลเมืองบรรษัทจะต้องนำไปถ่ายทอดผ่านทั้งการพูดหน้าเสาธง และให้ทางฝ่ายบริหารนำไปสอดแทรกในการปฏิบัติอีกด้วย”

(นาแม็กซ์) เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับการประชุม CSR ระดับภาคใต้ ใครที่ได้มาร่วมงานอาจจะประทับใจกว่าที่ได้อ่านนะครับ ภารกิจและการเดินทางออกต่างจังหวัดของเราทั้งสองทีมก็ปิดฉากลงที่จังหวัดสุราษฎร์นีครับ แต่สิ่งที่ทุกท่านได้อ่านหรือติดตามมาตลอดนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะมีอีกหนึ่งจังหวัดที่เรายังไม่ได้ไป ลองเดาๆ ดูนะครับว่าเป็นที่ไหน ผมใบ้ให้ละกันครับว่า เป็นการประชุม CSR ระดับประเทศนั่นเองครับ ใบ้ให้ขนาดนี้ก็น่าจะรู้กันแล้วนะครับว่าจะเป็นที่ไหน

การเดินทางไปต่างจังหวัดนั้นทั้งพี่หนึ่งและผม (นายแม็กซ์) ได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร การเข้าหาคนอื่น มารยาทต่างๆ การพูดโน้มน้าวคน วัฒนธรรมและรูปแบบอุปนิสัยของคนในแต่ละท้องที่ ที่พักในแต่ละจังหวัด ถนนหนทางต่างๆ สภาพแวดล้อม วิวทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยความประทับใจ และสิ่งต่างๆ ที่เคยได้เห็นแต่ในรายการทีวี ก็ได้มีโอกาสเห็นของจริงมากมาย หวังว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกผมได้กระทำลงไป ล้วนแล้วแต่อยากให้ทุกคนได้รับความสนุกสนาน พร้อมทั้งความรู้จาก อาจารย์ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ อาจารย์ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ อาจารย์วุฒิพงศ์ บัวบุตร์ คำสอนของอาจารย์สุธิชา เจริญงาม ความสะดวกสบายและข้อคำแนะนำต่างๆ จากพี่สาว พี่ผึ้ง พี่แอน พี่น้อง การติดต่อประสานงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวของ พี่หมู พี่แนน และเทคโนโลยีต่างๆ จากน้องอาลีฟ และทีมงานสาวที่เป็น Back up ด้วย สิ่งใดที่พวกผมได้ทำพลาดไปหรือส่งผลให้บางท่านไม่พอใจก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชชูปถัมภ์ ที่ได้ให้โอกาสพี่หนึ่งและผม ได้ร่วมเส้นทางและเดินทางไปพร้อมกับการทำ CSR ในเมืองไทย ขอขอบพระคุณแก่ผู้สนับสนุนของเราอย่าง CAT Dtac และ Toyota ที่ได้มาแชร์เรื่องราวกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำให้กับสังคมไทย ขอบคุณบริษัทเอเชีย พรีซิชั่นที่ให้แนวคิดมากมายในการปฏิบัติภายในองค์กรครับ และที่จะขาดไม่ได้เลย ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ CSR Campus ทุกท่านที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกันเผยแพร่สิ่งดีๆให้เกิดเป็นรูปร่างให้กับสังคม

แล้วเจอกันที่การประชุม CSR ระดับประเทศนะครับ สวัสดีครับ! (สรุปไปจังหวัดอะไร........)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น